ภาครัฐและเอกชนร่วมกันพัฒนาทักษะคัดกรองหัวใจให้แก่พยาบาลและเจ้าพนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ

                จากสภาพปัญหาของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในประเทศไทยพบว่าผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการของโรคปรากฏชัดเจน เช่นหอบเหนื่อย เขียว เจริญเติบโตช้า แต่บางรายอาจไม่มีอาการปรากฏชัดเจน  หากไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือได้รับการรักษาช้า  อาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อนจนเสียชีวิต หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการรักษา การตรวจพบโรคหัวใจในระยะเริ่มแรกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม สามารถลดอัตราการเสียชีวิตและภาวะพิการได้มาก มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ร่วมกับ  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  กรมควบคุมโรค  คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยการสนับสนุนของ “ทุนการกุศลสมเด็จย่า” และ “ทุนการกุศล กว”  จึงได้จัดการอบรมเพื่อเพิ่มทักษะในการคัดกรองโรคหัวใจด้วยการตรวจร่างกายระบบหัวใจและหลอดเลือด  ให้แก่พยาบาลวิชาชีพและเจ้าพนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ  เพื่อทำหน้าที่คัดกรองเบื้องต้นให้กับเด็กก่อนวัยเรียนที่มารับการฉีดวัคซีน  ณ สถานีอนามัย  ร่วมทั้งเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล – ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  ก่อนส่งต่อแพทย์วินิจฉัยยืนยันและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป 

                ศาสตราจารย์นายแพทย์บุญชอบ  พงษ์พาณิชย์  ประธานมูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ  ในฐานะประธานโครงการฯ และทำหน้าที่วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ  ในการให้ความรู้การคัดกรองแก่ผู้เข้ารับการอบรมกล่าวว่า  จากการประเมินผลการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและการฝึกฟังคัดกรองพบว่า  ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนผ่านการทดสอบมีความรู้ความสามารถที่จะไปสืบค้นเด็กที่ยังไม่ทราบว่าป่วยเป็นโรคหัวใจ  ซึ่งเสมือนอยู่ใต้ผิวน้ำมารับการรักษาได้อีก  เป็นจำนวนมาก  ซึ่งจะทำให้เด็กที่น่าสงสารเหล่านี้มีโอกาสได้รับการรักษามากยิ่งขึ้น  โครงการฯ นี้จะทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายหน่วยงานที่ให้บริการแก่เด็กโรคหัวใจและส่งผลดีในการส่งเด็กผู้ป่วยเข้ารับการรักษาต่อ  มูลนิธิฯ จะนำเสนอรายงานการดำเนินงานโครงการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะในการคัดกรองโรคหัวใจในเด็กฯ ผ่านทาง www.doctordek.com เป็นระยะๆ จนครบทุกจังหวัด ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553    -  การจัดอบรมที่จังหวัดพะเยา

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553  -  การจัดอบรมที่จังหวัดชัยนาท