คำแนะนำเกี่ยวกับการตรวจสวนหัวใจ

ศุภลักษณ์  พุทธรักษ์
ผศ.นพ.วรการ พรหมพันธุ์

               เป็นการตรวจเพื่อช่วยในการวินิจฉัยหรือรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด      โดยการใส่สายสวนขนาดเล็กเข้าทางเส้นเลือดดำหรือแดงบริเวณขาหนีบ    ซึ่งสายสวนจะผ่านขึ้นไปยังตำแหน่งต่าง ๆ ของหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ  จากนั้นแพทย์จะทำการวัดความดันและความอิ่มตัวของออกซิเจนในตำแหน่งต่าง ๆ  รวมทั้งฉีดสารทึบรังสี (หรือ “สี”) ซึ่งบันทึกภาพด้วยการถ่ายเอกซเรย์
                         



ประโยชน์จากการตรวจ

1.  เพื่อช่วยในการวินิจฉัยเพิ่มเติม ในกรณีที่การตรวจปกติได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง
2.  เพื่อการรักษา  เช่น
             -  การใช้ขดลวดอุดเส้นเลือดเกิน (coil embolization)
             -  การปิดรูรั่วของผนังกั้นหัวใจหรือเส้นเลือดเกิน (devices closure)
             -  การทำบอลลูนขยายลิ้นหัวใจหรือเส้นเลือดที่ตีบ (balloon valvuloplasty)

การเตรียมตัวก่อนตรวจ

1.  โดยทั่วไปแพทย์จะนัดผู้ป่วยมานอนโรงพยาบาลก่อน 1 วัน เพื่อตรวจเลือด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ทรวงอก และเตรียมความพร้อมก่อนการสวนหัวใจ
2.  งดอาหารและน้ำ ประมาณ 6 ชั่วโมง ก่อนตรวจ
3.  เช้าวันที่ตรวจ จะทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ทำ(ขาหนีบ)  และให้ยานอนหลับ  ก่อนส่งห้องตรวจ
ประมาณ 30 นาที
4.  โดยทั่วไปจะแนะนำให้รับประทานยาที่แพทย์สั่ง ตามปกติ ยกเว้นในรายที่ได้รับยาป้องกันเลือดแข็งตัว เช่น aspirin แพทย์จะแนะนำให้หยุดยาดังกล่าวก่อนประมาณ 1 สัปดาห์

ขั้นตอนการตรวจ

1.  ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องดมยาสลบในระหว่างการตรวจ เช่น ในผู้ป่วยเด็กเล็กหรือผู้ป่วยที่ปิดรูรั่วผนังกั้นหัวใจ
2.  แพทย์ทำความสะอาดผิวหนัง ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
3.  ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดยาชาบริเวณที่จะใส่สายสวน
4.  ใช้เข็มแทงเส้นเลือดบริเวณขาหนีบ (ดังรูปด้านล่าง) เพื่อใส่สายสวนหัวใจ  ผ่านไปยังตำแหน่งต่าง ๆ ของหัวใจ
5.  เมื่อเสร็จสิ้นการตรวจ  แพทย์จะดึงสายสวนออกและกดบริเวณที่แทงเส้นเลือด  จนเลือดหยุด
     เด็กจะมีแผลเล็กๆ ขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ที่ขาหนีบ

การดูแลหลังสวนหัวใจ

 วันที่ทำ
1.  หลังจากตรวจเสร็จแล้ว  ผู้ป่วยจะกลับมาพักฟื้นที่หอผู้ป่วย  เพื่อสังเกตอาการ
2.  ผู้ป่วยไม่ควรลุกจากเตียงและไม่งอขาด้านที่แทงเส้นเลือด เป็นเวลาอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
3.  หากพบว่า  บริเวณที่แทงเส้นเลือดบวม  หรือ ขาข้างที่แทงเส้นเลือด  ซีดหรือเย็นกว่าปกติควรแจ้ง  ให้พยาบาลทราบ
4.  ถ้าผู้ป่วยรู้สึกตัวดี  ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ให้รับประทานอาหารได้ตามความเหมาะสม
5.  ถ้าปวดแผล สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้

วันรุ่งขึ้น
1.  
พยาบาลจะเปิดแผลทำความสะอาด และตรวจดูอีกครั้งว่าบริเวณที่แทงเส้นบวมหรือไม่
2.  ในผู้ป่วยที่สวนหัวใจเพื่อการรักษา  โดยทั่วไป แพทย์จะตรวจอัลตร้าซาวด์หัวใจ  เพื่อติดตามผลการรักษา ก่อนจะให้ผู้ป่วยกลับบ้าน
3.  ในกรณีที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้ ยกเว้นบางรายที่ต้องอยู่โรงพยาบาลต่อ เพื่อการผ่าตัด หรือตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม

มีอะไร....เหลือค้างในร่างกายบ้าง ?

1.  ในกรณีทำการตรวจเพื่อวินิจฉัย หรือการทำบอลลูน จะไม่มีวัสดุหรือสายเหลือค้างไว้ในร่างกาย
2.  ในกรณีทำการอุดหรือปิดรูรั่ว จะมีอุปกรณ์พิเศษค้างอยู่ อุปกรณ์นี้ทำจากวัสดุที่ไม่มีอันตรายต่อร่างกาย สามารถอยู่ในร่างกายผู้ป่วยไปได้ตลอด

ผลแทรกซ้อนจากการตรวจ

อาจเกิดผลแทรกซ้อนได้ เช่น   เลือดออกบริเวณที่เจาะเส้นเลือด  เส้นเลือดอุดตัน  หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีไข้หลังตรวจ ผนังหัวใจทะลุ แพ้สีที่ฉีด อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงที่กล่าวมานั้น  พบได้น้อยมาก และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างประโยชน์และผลแทรกซ้อนที่อาจได้รับแล้ว    ผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์จากการตรวจสวนหัวใจมากกว่า