เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชอบ  พงษ์พาณิชย์ ประธานคณะกรรมการโครงการแพทย์ชนบทคืนถิ่น พร้อมด้วยนายแพทย์วีระวัฒน์  พันธ์ครุฑ นายแพทย์สมสินธุ์  ฉายวิจิตร นายแพทย์ขจิต  ชูปัญญา แพทย์หญิงสมจิต  พฤกษะริตานนท์ และนายแพทย์สุริยะ  วงศ์คงคาเทพ นำคณะแพทย์รับทุนโครงการฯ ปีการศึกษา 2553 จำนวน 6 คน และปีการศึกษา 2554 จำนวน 3 คน เข้าพบแสดงคารวะท่านผู้หญิงทัศนาวลัย  ศรสงคราม ประธาน "ทุนการกุศลสมเด็จย่า" และ "ทุนการกุศล กว" 

        ในโอกาสดังกล่าว ท่านผู้หญิงทัศนาวลัยฯ ได้กรุณาเป็นประธานในพิธีมอบเข็ม "แพทย์ชนบทคืนถิ่น" ให้กับแพทย์ปีการศึกษา 2553 ด้วย

___________________________________

แพทย์ชนบทคืนถิ่น

        ปัญหาสุขภาพในปัจจุบันมีความซับซ้อน และหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยแบบเรื้อรัง ที่มีอาการแสดงของโรคอาการผสมปนเปกัน รวมถึงการมีภาวะแทรกซ้อนของหลายโรคในคนไข้คนเดียวกัน ซึ่งยากแก่การดูแลในระยะสั้นๆ การแก้ไขปัญหาสุขภาพเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ทุกประเทศทั่วโลกให้พัฒนาระบบสุขภาพของตนเองให้ตอบสนองปัญหาดังกล่าวมากกว่า 30 ปีแล้ว โดยเสนอแนะว่า ระบบบริการสุขภาพที่แข็งแรงจะสามารถตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนทำให้ประชาชนของประเทศนั้นๆ สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม สามารถพัฒนาบริการสุขภาพให้มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพได้อย่างต่อเนื่อง จะต้องทำการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิให้แข็งแรง โดยสามารถเชื่อมโยงกับระบบบริการสุขภาพในระดับอื่นๆ อีกทั้งระบบสนับสนุนให้มิติอื่นๆ ทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และกฏหมายได้อย่างดี ระบบบริการปฐมภูมิที่กล่าวถึงนี้ เป็นระบบบริการสุขภาพที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ใกล้บ้านหรือที่ทำงาน ประชาชนมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในการรับบริการหรือที่เรียกว่าใกล้ใจ อุ่นใจ ประชาชนจะนึกถึงที่นี่ว่าเป็นที่แรกที่เขาจะพึ่งพาอาศัยหากเขาหรือครอบครัวเกิดเจ็บป่วยหรือมีความจำเป็นต้องรับบริการสุขภาพ

       การทำให้ระบบบริการปฐมภูมิแข็งแรงมีหลายองค์ประกอบ แต่องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือ กำลังคนทางด้านสุขภาพที่จะไปทำหน้าที่ในการให้บริการสุขภาพ ซึ่ง แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หรือในที่นี่จะขอเรียกสั้นๆ ว่า หมอครอบครัว ซึ่งเป็น แพทย์เฉพาะทางแนวใหม่ นำว่าเป็นบุคลากรที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำให้เกิดบริการปฐมภูมิที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำทีมสุขภาพในระดับปฐมภูมิเพื่อทำให้เกิดการให้บริการสุขภาพที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา โดยไม่มีอุปสรรคทั้งด้านการเงิน ระยะทาง หรือ เวลามาขวางกั้น เป็นผู้ที่จะนำทีมสุขภาพไปให้บริการถึงบ้านและครอบครัวของคนไข้ เป็นผู้ที่จะรู้ดีที่สุดว่าคนไข้และครอบครัวมีปัญหาสุขภาพอะไรตั้งแต่ต้นจนจบ สามารถให้บริการสุขภาพได้อย่างต่อเนี่อง ตั้งแต่ตอนป่วย หลังจากป่วย และให้การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค เพื่อไม่ให้อาการป่วยนั้นกลับมาเป็นอีก หรือ รุนแรงมากกว่าเดิม และยังเป็นผู้ที่ส่งต่อคนไข้ไปยังสถานบริการในระดับที่สูงกว่าหากเกิดขีดความสามารถ แต่ไม่ได้เพียงส่งคนไข้ไปเฉยๆ แต่ยังคอยติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด เสมอเป็นเพื่อน เป็นมิตร เป็นญาติของครอบครัวของคนไข้ ซึ่งทำให้เกิดการอุ่นใจ ไว้ใจ และเป็นกันเองกับคนไข้ และครอบครัวอย่างมาก คอยประสานงานรวมกับทีมงานสุขภาพทั้งในระดับเดียวกัน และต่างระดับกัน รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดูแลรักษาพยาบาลคนไข้ประสบความสำเร็จมากที่สุด ซึ่งการดูแลในที่นี้ไม่ได้ดูแลเพียงเพื่อแจกจ่ายยาหรือผ่าตัด แต่ต้องดูแลจนถึงกับว่าทำอย่างไรให้คนไข้และครอบครัวสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งบางคนเรียกว่า ดูแลทั้งกาย ใจ และสังคม นั่นเอง เรียกได้ว่า หมอครอบครัว เป็นหมอเฉพาะทางที่ใกล้ชิดกับชาวบ้าน ใกล้ชิดกับชุมชน ให้การรักษาทั้งที่ปลายเหตุและเจาะจงลงไปหาต้นเหตุของการเกิดโรค อีกทั้งให้การรักษาทางสังคม ทำให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้แม้ว่ามีความเจ็บป่วย ซึ่งเป็นการดูแลแบบที่เรียกว่า การดูแลด้วยหัวใจที่เป็นมนุษย์ ซึ่งนำว่าหายากมากในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในปัจจุบัน

        กระทรวงสาธารณสุข พยายามสนับสนุนให้มีการผลิตหมอครอบครัว โดยต้องการให้มีหมอประเภทนี้ประมาณ 50% ของจำนวนหมอทั้งหมด แต่เป้าหมายดังกล่าวไม่สามารถบรรลุผล ปัจจุบันมีแพทย์เฉพาะทางอื่นๆ รวมกันแล้วมีอยู่ประมาณ 70% ของหมอทั้งหมด จากรายงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (2553) พบว่าประเทศไทยต้องการหมอครอบครัวมากถึง 6,000 ตำแหน่ง แต่มีการผลิตแพทย์ประเภทนี้ในแต่ละปีในจำนวนน้อยมาก ทั้งๆ ที่มีโควต้าให้เข้าเรียน ประมาณ 100 คนต่อปี เช่น ในปีการศึกษา 2552 มีแพทย์สมัครเรียนแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวจำนวน 16 คน จากโควต้าการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน 112 ตำแหน่ง (ร้อยละ 14.29) และในปีการศึกษา 2553 มีแพทย์สมัครเรียนแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวลดลง เหลือเพียง 14 คน จากโควต้าการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน 114 ตำแหน่ง (ร้อยละ 12.28)

       กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขแห่งชาติ และราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมมือกันในการดำเนินการผลิตหมอครอบครัวในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลาย แต่อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ที่สนใจเรียนในสาขาดังกล่าวจำนวนน้อย ซึ่งทำให้พื้นที่ชนบทโดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อน และเป็นโรคเรื้อรังรวมถึงโรคที่จำเป็นต้องใช้ความเป็นเฉพาะทางของศาสตร์ในสาขานี้ได้รับความไม่เป็นธรรมจากการขาดแพทย์ประเภทนี้ไปให้การดูแลสุขภาพ ดังนั้นหน่วยงานทั้งสาม ร่วมกับ โรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข และคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ โดยการสนับสนุนของกองทุนการกุศลสมเด็จย่า และ ทุนการกุศล กว และมูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ ได้ร่วมกันจัดทำโครงการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคืนถิ่น โดยให้ทุนการศึกษาและทุนสนับสนุนระหว่างศึกษาจำนวน 3 ปี ซึ่งรวมถึงทุนอุดหนุนการเรียนระยะสั้นในต่างประเทศ โดยทุนสนับสนุนนี้มอบให้แก่แพทย์ที่สนใจเรียนต่อในสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว และพร้อมที่จะกลับไปรับใช้บ้านเกิดหรือพื้นที่ที่เป็นถิ่นทุรกันดารที่ประชาชนกำลังรอคอยความช่วยเหลือจากคุณหมอครอบครัวคืนถิ่นเหล่านี้ นอกจากนี้ยังมอบทุนการพัฒนาสถาบันการศึกษา และแหล่งฝึกงาน เช่น โรงพยาบาลชุมชนที่เข้าร่วมในโครงการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการให้บริการปฐมภูมิ รวมถึงการพัฒนาเพื่อให้เป็นแหล่งฝึกอบรมของหมอครอบครัวที่มีคุณภาพทัดเทียมประเทศที่พัฒนาแล้ว

       ท่านที่เป็นแพทย์ หรือมีผุ้ที่ท่านรักและรู้จักที่เป็นแพทย์ หากสนใจในโครงการดังกล่าว หรือท่านที่มีจิตกุศลต้องการร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อให้แพทย์ที่อยากจะทำความดีให้กับบ้านเกิด คืนคุณให้แผ่นดินเกิด หรือต้องการอาสาสมัครไปดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ถิ่นทุรกันดาร สามารถติดต่อได้ที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชอบ  พงษ์พาณิชย์ ประธานคณะอำนวยการ หมายเลขโทรศัพท์ 08-1617-4148 หรือ ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2141-4303 และที่สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-1811

 หมอครอบครัวคืนถิ่น เพื่อชาติ เพื่อแผ่นดิน เพื่อสุขอนามัยของคนในชนบทไทย

 ข้อมูลจาก ดร.นพ.ภูดิท  เตชาติวัฒน์ ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์และจัดหาทุน.