ผศ.นพ.สมเกียรติ  โสภณธรรมรักษ์
ผศ.นพ.วรการ พรหมพันธุ์

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดไม่เขียว ได้แก่ ผนังกั้นหัวใจห้องบนหรือห้องล่างรั่ว (atrial or ventricular septal defect) หรือ เส้นเลือดเกิน (patent ductus arteriosus)


บุตรหลานของท่าน ป่วยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ชนิดไม่เขียว

มีคำแนะนำการดูแล ในกรณีที่รูรั่วมีขนาดใหญ่ ดังนี้
1.  ผู้ป่วยจะเป็นหวัดได้บ่อย ๆ  ไม่ควรพาผู้ป่วยไปในที่ชุมชนมีผู้คนหนาแน่น  หลีกเลี่ยงควันบุหรี่  ถ้าเป็นหวัดควรรีบรักษาให้หายโดยเร็ว   ผู้ป่วยจะมีผลแทรกซ้อนจากหวัดได้ง่ายและ บ่อยกว่าเด็กทั่วไป
2.  รับประทานอาหารได้ทุกอย่าง  ไม่มีสิ่งใดเป็นของแสลง  แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เค็มจัด  เช่น  ไข่เค็ม  ปลาเค็ม   บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป  เป็นต้น  ปรุงอาหารตามปกติแต่ไม่ควรใส่เกลือเพิ่ม เด็กสามารถเติบโตได้พอสมควร ถ้าได้อาหารครบทุกหมู่  เช่น  เนื้อ  นม  ไข่  ผัก  ผลไม้ โดยเน้นอาหารพวกไขมัน  โดยใช้น้ำมันพืชในการทอด ผัด แทนการต้มหรือลวก
3.  รับประทานยาที่แพทย์ให้อย่างสม่ำเสมอ  จะมียาอยู่ 2  กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
     3.1  ยารักษาอาการทั่ว ๆ ไป  ยาลดไข้   ยาบรรเทาอาการหวัด  ยาบำรุงร่างกาย  ยากลุ่มนี้โดยเฉพาะ ยาบำรุง  ไม่จำเป็นต้องให้ทุกวันก็ได้เพราะใช้เสริมอาหาร
     3.2  ยารักษาหรือบรรเทาอาการทางหัวใจ  ได้แก่  ยาLanoxin  ยาขับปัสสาวะ   ให้กินยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ  โดยมีข้อแนะนำดังนี้
          1)  ถ้าได้ยาขับปัสสาวะร่วมด้วย  ควรกินผลไม้  มากขึ้น  เช่น  กล้วย  ส้ม  สับปะรด  เป็นต้น
          2)  ในระหว่างที่รับประทานยา  โดยเฉพาะยา Lanoxin   ถ้ามีอาการชีพจรเต้นไม่ปกติหรือคลื่นไส้อาเจียนมาก ควรหยุดยาทันทีและรีบมาพบแพทย์  ควรนำซองยาไปทุกครั้งที่พบแพทย์เพื่อประโยชน์แก่ตัวผู้ป่วยเอง
4.  ดูแลฟันของบุตรหลานท่านให้ดีสุขภาพฟันและเหงือกที่ไม่สมบูรณ์นั้น  จะเป็นแหล่งเชื้อโรคที่สำคัญ  ควรดูแลฟันตั้งแต่ผู้ป่วยอายุยังน้อย ๆ  โดยเริ่มจากการเช็ดเหงือกก่อนนอน เพื่อให้เด็กชินกับการทำความสะอาดฟัน จากนั้นเริ่มเช็ดฟันแปรงฟันและพาผู้ป่วยไปตรวจฟัน อย่างน้อยปีละครั้ง  ฟันผุเป็นแหล่งที่มีเชื้อโรคอยู่มากมาย อาจเป็นแหล่งกระจายเชื้อให้ผู้ป่วยติดเชื้อในหัวใจได้
5.  ความผิดปกติที่หัวใจนั้นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมในเวลาต่อมา   แพทย์จะเป็นผู้บอกในเวลาต่อมาว่าสามารถให้ความช่วยเหลือบุตรหลานท่านด้วยวิธีใดบ้าง   ถ้าหากต้องผ่าตัด  จะบอกเวลาที่เหมาะสมอีกครั้ง
6.  ให้นำผู้ป่วยมาติดตามรับการรักษาเป็นระยะตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อประโยชน์แก่ผู้ป่วยเอง  ถ้ามีปัญหาแทรกซ้อนเกิดขึ้นก็จะสามารถช่วยได้เร็วขึ้น
7.  หากบุตรหลานของท่านต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม ด้วยการใส่สายสวนเข้าภายในตัวร่างกาย  เช่น  ส่องกล้องดูอวัยวะภายใน  หรือตรวจรักษาฟันด้วยวิธีการใด ๆ ก็ตาม  ให้แจ้งแก่แพทย์ผู้ดูแลเสมอว่าบุตรหลานท่านเป็นโรคหัวใจ จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ(ยาฆ่าเชื้อโรค) ก่อนเสมอ  โดยให้รับประทานยาตามสั่งอย่างเคร่งครัด    เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากประการหนึ่ง  เนื่องจากการตรวจหรือรักษาดังกล่าวข้างต้น สามารถทำให้เกิดเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจในภายหลังได้
8.  รับวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ  ตามระยะเวลาเหมือนเด็กปกติทั่วไปได้

ในกรณีที่รูรั่วมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยมักไม่จำเป็นต้องรับประทานยาโรคหัวใจ และมักไม่มีอาการเหนื่อยง่ายหรือเลี้ยงไม่โต การดูแลโดยทั่วไปจึงเหมือนเด็กปกติ แต่จำเป็นต้องดูแลสุขภาพปากและฟันให้แข็งแรง และส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือดระหว่างทำฟัน รวมทั่งต้องมารับการติดตามอาการตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ เพราะถึงแม้ไม่มีอาการ แต่ก็มีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ลิ้นหัวใจหย่อนหรือรั่ว เป๋นต้น