somkiat.jpgผศ.นพ.สมเกียรติ โสภณธรรมรักษ์


โรคคาวาซากิคืออะไร ?
  เป็นโรคที่เป็นผลมาจากการอักเสบของหลอดเลือดขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วร่างกาย  สาเหตุที่แท้จริงของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด    แต่อาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อบางชนิดทั้งแบคทีเรียและไวรัส โรคนี้ตั้งชื่อตามนายแพทย์คาวาซากิ  ซึ่งเป็นแพทย์ชาวญี่ปุ่น  ที่ได้รวบรวมรายงานผู้ป่วยเป็นคนแรกของโลก  เมื่อหลายสิบปีก่อน


อาการของโรคคาวาซากิ

   จะเริ่มด้วยอาการไข้สูงลอยทั้งวัน   ไม่ตอบสนอง   ต่อยาลดไข้   ไข้จะเป็นอยู่นานหลายวันหากไม่รักษา   มักไม่มีอาการทางหวัด  เช่น อาการไอ  หรือน้ำมูกไหล  ไม่มีผลการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งวินิจฉัยโรคนี้ได้อย่างเด็ดขาด  แพทย์จะให้การวินิจฉัยได้จากเกณฑ์วินิจฉัยจาก  4  ใน 5 ข้อ ร่วมกับอาการไข้สูงหลายวัน

เกณฑ์การวินิจฉัย

1.  ตาแดงทั้งสองข้าง  ไม่มีขี้ตา
2.  ลิ้นแดง (คล้ายสตรอเบอรี่)  ปากแดง  บางครั้งถึงกับแตก  เจ็บ และมีเลือดออก
3.  มือเท้าบวมในช่วงแรก  มักไม่ยอมใช้มือเท้าเดินหรือเล่น  เนื่องมาจากเจ็บระบม  มีผิวหนังลอกเริ่มที่บริเวณ
    ขอบเล็บ  และอาจพบที่รอบก้นและขาหนีบ
4.  มีผื่นขึ้นตามตัว  เป็นได้ทุกรูปแบบ  ยกเว้นตุ่มน้ำหรือตุ่มหนอง
5.  ต่อมน้ำเหลืองโต   มักเป็นที่บริเวณคอ   ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่า 1.5 เซนติเมตร

ประมาณ 80 %  ของผู้ป่วยเป็นเด็ก   อายุน้อยกว่า  5  ปี    โดยส่วนใหญ่จะมีอายุน้อยกว่า 2 ปี

โรคนี้ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาจะเป็นอย่างไร

    อาการดังกล่าวมาข้างต้น 5 ข้อ  ไม่มีอันใดจะมีการทำลายอย่างถาวรต่ออวัยวะนั้น    ที่สำคัญที่สุดคือ ”การอักเสบของหลอดเลือดโคโรนารี่” ซึ่งเป็นเส้นเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเมื่อมีการอักเสบมากจะเกิดการโป่งพองของหลอดเลือดนี้ (aneurysm) และมีการอุดตันของหลอดเลือด ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจวายหรือทำงานล้มเหลวเสียชีวิตได้ หลอดเลือดทั่วร่างกายอาจมีการอักเสบได้เช่นกัน   เกล็ดเลือดที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงท้ายของการดำเนินโรค   จะทำให้การเสี่ยงต่อการอุดตันของหลอดเลือดเพิ่มขึ้น

โรคคาวาซากิจะรักษาอย่างไร ?

            เมื่อพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคคาวาซากิ ควรรับใว้ในโรงพยาบาล  เพื่อการติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด

วิธีรักษาทำได้โดย


1.  ให้ยาแอสไพริน   เพื่อลดการอักเสบของหลอดเลือดและป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด (ใช้ยาขนาดสูง ในช่วงแรก  แบ่งให้รับประทานเมื่อไข้ลงจะลดยาลงในภายหลัง)
2.  ให้อิมโมโนโกลบูลิน (immunoglobulin)   เพื่อลดอุบัติการณ์การเกิดการโป่งพองและการอักเสบของ        หลอดเลือดโคโรนารี (coronary aneurysm)

จะต้องดูแลอย่างไรหลังจากออกจากโรงพยาบาล ?

    หากมีการโป่งพองของหลอดเลือดโคโรนารี มีโอกาสที่เกิดอุดตัน และมีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงได้ ในเด็กเล็กจะบอกเรื่องเจ็บหน้าอกด้านซ้ายไม่ได้ แต่จะร้องกวนไม่หยุด ไม่กินนมหรือข้าว ซีด เหงื่อออก หายใจหอบเหนื่อยและชีพจรเต้นเร็วมากขึ้นให้รีบพามาโรงพยาบาลเป็นการด่วนเพื่อตรวจคลื่นหัวใจ  อัตราซาวด์หัวใจ (echocardiogram)  ซ้ำ  และแพทย์อาจให้ยาละลายลิ่มเลือดและขยายหลอดเลือดโคโรนารี  
   หากตรวจไม่พบความผิดปกติของ   หลอดเลือดโคโรนารีตั้งแต่ต้น  และได้รับการรักษาที่ถูกต้องแต่ต้น  โอกาสเกิดการโป่งพองของหลอดเลือดในระยะต่อมาจะลดน้อยมาก  แต่ต้องมาติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง  ให้กินยาแอสไพรินตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ
   ในช่วงที่กินยาแอสไพริน  หากมีการระบาดของอีสุกอีใส  ให้หยุดยาและมาติดต่อสอบถาม  หรือมาพบแพทย์