ปัญหาโรคหัวใจในเด็กในประเทศไทย
ศ.นพ.บุญชอบ พงษ์พาณิชย์


เด็กก็เป็นโรคหัวใจ


บุคคลทั่วไปอาจยังไม่ทราบว่าเด็กๆก็เป็นโรคหัวใจ ทั้งนี้เพราะข้อมูลเกี่ยวกับโรคหัวใจ ส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ นอกจากบุตรหลานหรือคนใกล้ชิดเป็นโรคหัวใจ จึงเริ่มให้ความสนใจโรคหัวใจในเด็กมากขึ้น

เด็กมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา บางรายอาจเสียชีวิตก่อนเกิด บางรายเริ่มมีอาการ หรือตรวจพบตั้งแต่แรกเกิด บางรายตรวจพบเมื่อออกจากโรงพยาบาลหลังคลอด หรือมีอาการหลังอายุ 1-2 เดือน หรือหลังจากนั้น ในกรณีที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

เด็กบางคนอาจเป็นโรคหัวใจภายหลังเกิด หรือเมื่ออายุหลายๆปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคหัวใจ

คุณวัชรี คลอดบุตรคนแรกในโรงพยาบาลตามกำหนด และคลอดปกติ เป็นทารกเพศหญิง ภายหลังเกิด กุมารแพทย์ผู้ตรวจเด็กในวันนั้นบอกว่าเด็กปกติ น้ำหนักตัวกว่า 3 กิโลกรัม พออายุได้ 3 วัน มารดาสังเกตว่า ลูกหายใจเร็วและริมฝีปากคล้ำ โดยเฉพาะจะคล้ำมากเวลาร้อง แพทย์ได้มาตรวจเด็กอีกครั้ง และบอกมารดาว่า สงสัยเด็กจะมีหัวใจที่ผิดปกติ และอาจจำเป็นต้องให้การรักษาโดยการผ่าตัด ผลการวินิจฉัยขั้นสุดท้าย พบว่าเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ชนิดที่มีหลอดเลือดแดงใหญ่สลับที่กัน (Transposition of the great arteries)
--------------------------------------------------------------------------------
เด็กชายอายุ 2 สัปดาห์ เกิดในโรงพยาบาล แพทย์ตรวจร่างกายแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติ เริ่มมีอาการซึมไม่ยอมดูดนม และตัวซีดเขียวทันทีจึงรีบนำมาที่โรงพยาบาล ขณะมาห้องปัจจุบันพยาบาล(ห้องฉุกเฉิน) หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิต โดยไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้ทัน ผลการตรวจศพ พบว่าเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ชนิดที่มีหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ออกจากหัวใจคอดรุนแรง (Coarctation of Aorta) รายนี้ถ้าตรวจพบได้เร็วสามารถผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้
--------------------------------------------------------------------------------
อีกรายหนึ่งเป็นเด็กชายเกิดในโรงพยาบาล และกลับบ้านพร้อมมารดาเมื่ออายุ 7 วัน แพทย์บอกเป็นเด็กปกติ และนัดให้มาตรวจและฉีดวัคซีนเมื่อเด็กอายุ 1 เดือน เด็กเลี้ยงด้วยนมผสม มารดาสังเกตว่าระหว่างดูดนมจะหยุดบ่อยๆ และเลี้ยงไม่ค่อยโต จึงมาพบแพทย์เมื่ออายุ 1 เดือน เด็กหนัก 3.5 กิโลกรัม น้ำหนักแรกเกิด 3.2 กิโลกรัม หลังจากแพทย์ตรวจเด็กแล้วบอกมารดาว่าสงสัยเด็กจะมีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด จำเป็นต้องได้รับการตรวจละเอียดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผลการตรวจขั้นสุดท้าย แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ชนิดมีรูรั่วขนาดใหญ่ที่ผนังกั้นห้องล่างของหัวใจ (Ventricular Septal Defect, VSD) จำเป็นต้องรับการรักษาทางยาในช่วงแรก ถ้าอาการดีขึ้นอาจรอไปก่อนเพราะขนาดรูรั่วอาจมีโอกาสเล็กลง แต่ถ้าหลังจากรักษาทางยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ก็จำเป็นต้องทำการผ่าตัดปิดรูรั่ว
--------------------------------------------------------------------------------
เด็กชายอายุ 6 เดือน มีอาการเขียวขณะร้อง และมีอาการตัวอ่อนปวกเปียก มารดาจึงพาไปพบแพทย์ ผลการตรวจพบว่า เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ชนิดที่มีรูรั่วขนาดใหญ่ที่ผนังกั้นห้องล่างของหัวใจ และมีหลอดเลือดที่ไปปอดตีบแคบ (Tetralogy of Fallot, TOF) ผู้ป่วยรายนี้จำเป็นต้องผ่าตัดรักษา
--------------------------------------------------------------------------------
เด็กชายอายุ 10 ปี แข็งแรงดีมาตลอดจนประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนเริ่มมีอาการไข้ เจ็บคอ เป็นอยู่ 2-3 วัน ไข้ลดลงเองโดยไม่ได้พบแพทย์จนกระทั่ง 2 วันก่อนไปพบแพทย์ เริ่มมีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยเร็ว และมีอาการปวดบริเวณข้อเท้า ข้อเข่าร่วมด้วย เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายละเอียดแล้ว พบว่าเป็นโรคไข้รูมาติก และมีลิ้นหัวใจรั่วจากการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจ ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
--------------------------------------------------------------------------------
เด็กหญิงอายุ 8 ปี มีสุขภาพแข็งแรง เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายที่โรงเรียน สงสัยเป็นโรคหัวใจแนะนำให้ไปตรวจโดยละเอียดที่โรงพยาบาล มารดาและเด็กไม่เคยสังเกตว่า เด็กมีอาการเหนื่อยเร็วกว่าเด็กคนอื่นๆ และเคยได้รับการตรวจร่างกายสม่ำเสมอจากแพทย์ทุกครั้ง ที่มีการตรวจสุขภาพเพื่อรับการฉีดวัคซีน ผลการตรวจขั้นสุดท้ายพบว่าเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ชนิดมีรูรั่วขนาดใหญ่ที่ผนังกั้นห้องบน ( Atrial Septal Defect, ASD) จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรักษาเพื่อปิดรูรั่ว
--------------------------------------------------------------------------------

สาเหตุโรคหัวใจในเด็ก

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเป็นโรคหัวใจที่พบบ่อย ที่สุดในวัยเด็ก พบถึงร้อยละ 70-80 ของโรคหัวใจในเด็กทั้งหมด พบในทารกเกิดใหม่มีชีวิตถึง 8:1,000 ถ้าเด็กเกิดในประเทศไทยปีละ 1 ล้านคน จะมีเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ถึงปีละ 8,000 คน เด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดนี้ ร้อยละ 84 ตรวจพบภายในอายุ 7 วัน ถ้าได้รับการตรวจโดยแพทย ์หรือพยาบาล ในจำนวน นี้ประมาณร้อยละ 50 ไม่มีอาการ ที่เหลือมีอาการเขียว หรือหัวใจวายร่วมด้วยอย่างละเท่าๆกัน บางรายอาจเสียชีวิตโดยไม่ทราบว่าเป็นโรคหัวใจ (ร้อยละ 2) เด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดจำนวนหนึ่งไม่มีอาการ และตรวจ ไม่พบสิ่งผิดปกติในสัปดาห์แรก

เด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดนี้ บางรายมี ความผิดปกติของอวัยวะอย่างอื่นร่วมด้วย ประมาณร้อยละ 30, เป็นเด็กกลุ่มอาการดาวน์ ร้อยละ 8, เป็นความผิดปกติจากมารดาติดเชื้อหัดเยอรมัน (Rubella Syndrome) ร้อยละ 3

จากการติดตามศึกษาเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการ แต่กำเนิด ที่เกิดในโรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่าในขวบ ปีแรกร้อยละ 24 ต้องการการรักษาโดยการผ่าตัด, ร้อยละ 20 ความพิการหายได้เอง เช่น มีรูรั่วที่ผนังกั้นห้องล่าง และห้องบนของหัวใจที่ขนาดเล็ก เป็นต้น ร้อยละ 23 เสียชีวิต ดังนั้นในปีหนึ่งๆจะมีเด็กเสียชีวิตจากหัวใจพิการ แต่กำเนิดประมาณ 1,800 คน ในขวบปีแรก

จากการศึกษาในเด็กนักเรียนพบว่า เด็กนักเรียนเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ประมาณ 2-3 ต่อ 1,000 ประมาณว่าโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในเด็กวัยเรียนในประเทศไทยมีประมาณ 4-5 หมื่นคน

ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางราย เริ่มมีอาการ หรือตรวจพบเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว เช่น ผนังกั้นห้องบนมีรูรั่ว ซึ่งบางรายกว่าจะรู้ว่าเป็นโรคหัวใจ ก็เป็นรุนแรงมาก จนไม่สามารถให้การรักษาโดยการผ่าตัดแล้ว ดังนั้นการตรวจร่างกายขณะอยู่ในวัยเรียนจึงมีความสำคัญมาก

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางชนิด เช่นมีรูรั่วเล็กๆ ที่ผนังกั้นห้องล่าง หรือมีลิ้นหัวใจตีบเพียงเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องรับการรักษา สามารถมีชีวิตเหมือนคนปกติ แต่ต้องป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่นการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจหรือบริเวณรูรั่ว

โรคหัวใจที่เกิดภายหลังเกิด

โรคหัวใจรูมาติก ซึ่งเกิดจากโรคไข้รูมาติก (ดูรายละเอียดในบทโรคหัวใจรูมาติก) ซึ่งมีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ และลิ้นหัวใจ ทำให้มีลิ้นหัวใจรั่ว หรือถ้าเป็นเรื้อรังทำให้ลิ้นหัวใจตีบ เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน พบค่อนข้างบ่อย คือ 1 ราย ต่อเด็กนักเรียน 1,000 คน ปัจจุบันพบได้น้อย เนื่องจากการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนการดูแลเรื่องสุขภาพของประชากรดีขึ้น โรคนี้เกิดภายหลังการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสในคอ เชื้อนี้เป็นสาเหตุที่สำคัญของคอและต่อมทอนซิลอักเสบ ถ้าได้รับการรักษาที่รวดเร็วและถูกต้องจะป้องกันการเกิดไข้โรครูมาติก และป้องกันการเกิดโรคหัวใจรูมาติกได้

โรคคาวาซากิ เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุ พบครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน และเริ่มพบมากขึ้นในประเทศไทย โรคนี้มีอาการสำคัญคือมีไข้สูงอยู่นานกว่า 3-5 วัน มีอาการตาแดง ริมฝีปากแดง มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต มีผื่น หรือมือเท้าบวม (ดูรายละเอียดในบทโรคคาวาซากิิ) ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคนี้คือ มีการอักเสบที่หลอดเลือดแดงโคโรนารี่ (หลอดเลือดแดงที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ) อาจทำให้มีการโป่งพองหรืออุดตันในหลอดเลือด และทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยง โรคนี้ถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษาโดยรวดเร็ว จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนของหัวใจได้ ปัจจุบันพบโรคนี้ได้บ่อยกว่าโรคไข้รูมาติก

โรคหัวใจจากการติดเชื้อ เชื้อแบคทีเรียทุกชนิดเป็นสาเหตุของการอักเสบของหัวใจทั้งกล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ และเยื่อบุภายในหัวใจได้ สาเหตุของการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจในเด็กไทยเมื่อสมัยก่อน ที่พบบ่อยคือโรคคอตีบ ปัจจุบันเด็กไทยส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน จึงพบน้อยมาก

โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เกิดจากไวรัสไวรัสทุกชนิดทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจได้ ที่พบบ่อยคือเชื้อคอกซากิไวรัส ผู้ป่วยจะมีอาการของการติดเชื้อไวรัสนำมาก่อน เช่นเป็นไข้ มีผื่น และมีภาวะหัวใจวาย มีอาการหอบ หัวใจเต้นเร็ว อ่อนเพลีย ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาจเสียชีวิตได้

การอักเสบของหัวใจจากแบคทีเรีย เชื้อแบคทีเรียหลายชนิดทำให้เกิดเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เชื้อที่พบบ่อยคือเชื้อหนอง เช่น เป็นแผลพุผองตามผิวหนัง หรือการฉีดยาเสพติด โดยใช้เข็มและกระบอกยาที่ไม่สะอาด ถ้าเป็นรุนแรงอาจเสียชีวิตได้

โรคหัวใจเหน็บชา ปัจจุบันพบน้อย สาเหตุเกิดจากขาดไวตามินบีหนึ่ง ซึ่งไวตามินชนิดนี้มีมากใน ผัก ผลไม้ ข้างกล้อง เนื้อหมู ไข่แดง ถ้ารับประทานอาหารครบหมู่ จะป้องกันโรคนี้ได้ สำหรับมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ ไม่ควรอดของแสลง ควรรับประทานอาหารที่ครบหมู่ ทำให้ลดภาวะหัวใจวายและเสียชีวิตได้ (สมัยก่อนพบทารกที่เป็นโรคหัวใจเหน็บชามาก เพราะความเชื่อเรื่องของแสลงที่ไม่ถูกต้องนี้)

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่พบบ่อยคือภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติเป็นๆหายๆ ถ้ามีอาการอยู่นานกว่า 24 ชั่วโมง อาจมีภาวะหัวใจวายได้

ปัญหาในการวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจในเด็ก

แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป หรือกุมารแพทย์ สามารถให้การวินิจฉัยโรคหัวใจในเด็กได้ โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตลอดจนการถ่ายภาพรังสีทรวงอก หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ บางรายจำเป็นต้องการตรวจและวินิจฉัยขั้นสุดท้าย ต้องส่งต่อไปยังกุมารแพทย์โรคหัวใจ ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีประมาณ 50 คน และส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้ไม่สะดวกรวมทั้งสิ้นเปลือง ในกรณีที่ต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ยิ่งมีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะศัลยแพทย์หัวใจที่ทำการผ่าตัดเด็กมีจำนวนน้อย ทำให้ผู้ที่ฐานะยากจน ซึ่งมีจำนวนมากในประเทศไทย และส่วนมากอยู่ในชนบทห่างไกล จะเป็นผู้ที่ได้รับการดูแลไม่ได้มาตรฐานที่ควร

บทบาทของมูลนิธิเด็กโรคหัวใจ

ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว มูลนิธิเด็กโรคหัวใจแห่งประเทศไทย จึงได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2524 โดยการรวมตัวของผู้มีจิตศรัทธา ทั้งที่มิได้เป็นแพทย์และแพทย์ และในปี พ.ศ. 2527 สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงพระกรุณารับไว้ในพระอุปถัมภ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว คือ

1.สนับสนุนการฝึกอบรมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนแพทย์เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจเด็ก และฝึกอบรมระยะสั้นให้แก่แพทย์ทางเวชปฏิบัติทั่วไปรวมทั้งพยาบาล เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการวินิจฉัย และรักษาเด็กโรคหัวใจ
2.ช่วยเหลือผู้ป่วยรายได้น้อยที่จำเป็นต้องเดินทางไปรับการรักษาในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ที่มีความพร้อมในด้าน ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ตลอดจนค่ายา และเวชภัณฑ์ที่ไม่สามารถเบิกได้จากโรงพยาบาลของรัฐ
3.นำคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจเด็ก และศัลยแพทย์ไปตรวจเด็กตามชนบทแห่งไกล ปีละ 1-2 ครั้ง โดยการร่วมมือจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ในกรณีจำเป็นต้องการตรวจเพิ่มเติมหรือต้องการการักษาโดยการผ่าตัด จะส่งผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ หรือโรงเรียนแพทย์ต่างจังหวัด โดยทางมูลนิธิฯช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเป็นบางส่วน
4.ประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคหัวใจในเด็ก ตลอดจนให้ทุนวิจัยเกี่ยวกับโรคหัวใจในเด็ก

การดำเนินการที่ได้รับการสนับสนุนจากกรรมการมูลนิธิฯ และผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงิน ช่วยเหลือด้วยดีตลอดมา

ถึงแม้ความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาการทางการแพทย์ของประเทศไทยจะทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยยังมีปัญหาในการดูแลรักษาเด็กโรคหัวใจ เนื่องจากการขาดบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชนมีฐานะยากจน รัฐขาดงบประมาณในการดำเนินงานด้านสุขภาพ มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นองค์กรเอกชนที่มีส่วนสนับสนุนให้เด็กไทย ได้รับการดูแลที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อเด็กเหล่านี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ อันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป