guidvigrom.jpgรศ.นพ. กฤตย์วิกรม ดุรงค์พิศิษฏ์กุล

การดูแลผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ
การดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัดในช่วงต้น
การดูแลผู้ป่วยในช่วงระยะเวลาพักฟื้นที่หอผู้ป่วย




การดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัดในช่วงต้น


ผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจจะแบ่งได้โดยง่ายเป็น 2 ชนิด คือการผ่าตัดเปิดหัวใจ ซึ่ง หมายถึง การผ่าตัดขณะที่หัวใจหยุดเต้น เพื่อซ่อมแซมเย็บปิดรูรั่วภายในหรือลิ้นหัวใจ เป็นต้น และการ ผ่าตัดโดยไม่ต้องเปิดหัวใจ เช่น การต่อเส้นเลือด หรือการผูกเส้นเลือดเกิน การผ่าตัดทั้ง 2 ชนิด ผู้ป่วย จะใช้เวลาอยู่โรงพยาบาลต่างกัน แต่โดยเฉลี่ยจะต้องอยู่ในหอผู้ป่วยหนักตั้งแต่ 1 ถึง 3 วัน และพักฟื้น ในโรงพยาบาลอีก 5 ถึง 10 วัน ในกรณีที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน

ผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจ เมื่อออกจากห้องผ่าตัด จะถูกย้ายมาที่หออภิบาลผู้ป่วยหนัก เรียกย่อๆ ว่า ไอซียู (intensive care unit) ผู้ป่วยยังต้องการใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อความปลอดภัยในช่วงแรก รวมทั้งจะมีอุปกรณ์หลายชนิดช่วยในการเฝ้าระวังภาวะการทำงานของหัวใจ เช่น วัดความดัน โดยใช้สายวัดทางหลอดเลือดแดง, การวัดชีพจร, สายวัดความดันที่ต่อโดยตรงมาจากห้องหัวใจ และสายที่ใช้ในการกระตุ้นหัวใจให้เต้นตามจังหวะ กรณีที่เกิดความผิดปกติของการเต้นหัวใจ ตลอดจนท่อระบายเลือดจากช่องรอบหัวใจและช่องปอด ผู้ป่วยเหล่านี้จะดูเหมือนเด็กที่ป่วยหนักในระยะเบื้องต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะได้รับยาเพื่อคลายอาการเจ็บปวด และทำให้หลับ ผู้ปกครองควรติดต่อซักถามกับ แพทย์ผู้ทำการผ่าตัด หรือกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจเด็กเป็นรายๆ เพื่อรับทราบผลการผ่าตัด และการดำเนินโรค ในระยะพักฟื้น

ช่วงระยะเวลานี้ ผู้ปกครองอาจถูกกำหนดเวลาเยี่ยมผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการพักผ่อนเต็มที่ ผู้ป่วยจะได้รับการถอดท่อช่วยหายใจ โดยให้หายใจเอง เมื่อแพทย์เห็นว่าผู้ป่วยได้ฟื้นจากการดมยา และในระยะเวลา 1-2 วัน แพทย์จะค่อยๆ ถอดสายหรือท่อต่างๆ ที่ติดกับผู้ป่วยเมื่อเห็นว่าผู้ป่วยได้พ้นขีดอันตราย และไม่จำเป็นต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดต่อไป ในช่วงระยะเวลานี้ผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยได้รับอาหารตามอายุ เช่น ให้น้ำหวาน และนมในเด็กเล็ก หรืออาหารอ่อนในเด็กโต

ความเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กที่ผู้ปกครอง สามารถเห็นได้หลังการผ่าตัด เช่น การที่มีผิวสี ริมฝีปาก สีแดง จากการเป็นสีคล้ำที่เรียกว่าเขียว, ผู้ป่วยจะดูว่า ภาวะการไหลเวียนเลือดที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี การผ่าตัดบางชนิด อาจจะไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยมีผิวสีเป็นปกติ โดยยังมีอาการคล้ำหรือเขียวได้ แพทย์ผู้ให้การรักษาจะเป็นผู้อธิบายให้ผู้ปกครองทราบได้เองถึงผลการผ่าตัด ในช่วงหลังนี้ผู้ป่วยจะได้รับการย้ายเข้าไปในหอผู้ป่วยเมื่ออาการดีขึ้น

การดูแลผู้ป่วยในช่วงระยะเวลาพักฟื้นที่หอผู้ป่วย

ผู้ป่วยที่ได้รับการย้ายมาอยู่ในหอผู้ป่วย จะใช้เวลาพักฟื้นตั้งแต่ 3 วัน ถึง 10 วัน ในช่วงนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถเริ่มกินนม หรืออาหารได้เอง แพทย์จะให้งดอาหารเค็ม เพราะจะมีปริมาณ เกลือที่มากเกินความต้องการ ในช่วงนี้ผู้ป่วยจะได้รับยา เพื่อช่วยในการกระตุ้นหัวใจ, ยาขับปัสสาวะ หรือยาขยายหลอดเลือดเป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยบางส่วนจะต้องได้รับการทำกายภาพบำบัด เพื่อระบาย เสมหะออกจากปอด เพราะการผ่าตัดหัวใจจะยังทำให้มีความเจ็บปวดจากแผลผ่าตัด

ผู้ป่วยหลายรายจะไม่สามารถหายใจเพื่อให้ปอดขยายได้เต็มที่ จะยังทำให้เสมหะค้างได้ ในเด็กที่โตโตขึ้น แพทย์อาจให้ ผู้ป่วยฝึกหายใจ เช่น เป่าท่อลม หรือลูกโป่ง เป็นต้น แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม เพื่อดูผลการพักฟื้น เช่น การทำเอ็กซเรย์ปอด, การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงของหัวใจ หรือที่เรียกว่า เอ็คโค (echocardiogram) เป็นต้น

นอกจากนี้แพทย์จะทำการตัดไหม ตามแต่ชนิดของไหมที่เย็บบริเวณผิวหนัง เมื่อแพทย์แน่ใจในการฟื้นตัวของผู้ป่วยแล้วก็จะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้าน ก่อนกลับบ้าน แพทย์ จะให้คำแนะนำต่างๆ เพื่อช่วยในการพักฟื้นของผู้ป่วยที่บ้าน ดังนี้

คำแนะนำเกี่ยวกับปริมาณนม และน้ำที่ผู้ป่วยควรได้รับ, การงดอาหารเค็ม

ยาต่างๆ ที่จะได้รับ มักแบ่งเป็นชนิดดังนี้

1. ยากระตุ้นการบีบตัวของหัวใจ มีชื่อว่า ลาน็อคซิน (Lanoxin) ชนิดน้ำหรือเม็ด มักกินวันละ 2 ครั้ง
2. ยาขับปัสสาวะช่วยในการขับน้ำส่วนเกิน ลดอาการบวม ยานี้มีแต่ชนิดเม็ดต้องหักแบ่งเป็น ครึ่งเม็ด, หนึ่งในสี่, หนึ่งในแปดเม็ด เช่น ยาลาซิค (Lasix) หรือ แอลแดคโตน (aldactone)
3. ยาขยายหลอดเลือด โดยทั่วไปหักแบ่งเป็นหนึ่งในสี่ และผสมน้ำให้สัดส่วนต่างกัน วันละ 2 หรือ 3 หน
4. ยาป้องกันการแบ่งตัวของเกร็ดเลือด คือ แอสไพริน วันละหน ต้องทานตลอดไปใน
ผู้ป่วยบางราย
5. ยาอื่นๆ แล้วแต่สภาวะ เช่น ยาฆ่าเชื้อ, ยาแก้ไอ, ยาควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ

ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจกับแพทย์ถึง ขนาด, มื้อ, ปริมาณยาที่ผู้ป่วยได้รับ

การนัดติดตามตรวจรักษา

อาจกล่าวได้ว่าการผ่าตัดหัวใจทุกครั้ง แพทย์จะต้องนัดผู้ป่วยมาตรวจติดตามการรักษาเสมอ โดยมีจุดประสงค์เพื่อดูสภาพการทำงานของหัวใจ เพิ่มหรือลดขนาดยา และตัดไหม เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะนัดมาภายใน 7-10 วัน หลังทำการผ่าตัด และอาจจะนัดห่างออกไปในครั้งต่อไป ในการมาตรวจติดตามการรักษา ผู้ป่วยควรจะมาตรวจตามวันนัด และนำยาทุกอย่างที่เหลืออยู่มาเพื่อสะดวกในการสั่งยาครั้งต่อไป

ระวังอันตรายที่จะเกิดจากอุบัติเหตุ

เด็กที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจจะมีการผ่ากระดูกหน้าอกออกและผูกติดกัน เมื่อเสร็จการผ่าตัด ความแข็งแรงของโครงสร้างกระดูกมักจะเริ่มตั้งแต่อาทิตย์ที่ 2-3 จึงควรระมัดระวังอันตรายที่จะเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น แรงกระแทกที่หน้าอก และไม่ควรให้ผู้ป่วยยกของหนัก ภายใน 4-6 อาทิตย์ เด็กส่วนใหญ่จะสามารถทำกิจวัตรประจำวันส่วนใหญ่ ในการช่วยเหลือตัวเองได้ ใน 1-2 อาทิตย์ และกลับไปเรียน หรือปฏิบัติงานได้หลังจาก 2 อาทิตย์ไปแล้ว

อาการแสดงที่ควรระวังเพื่อจะได้นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ได้ทันท่วงที่

ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในภายหลังได้ ผู้ปกครองควรนำผู้ป่วยมา พบแพทย์เมื่อมีอาการต่อไปนี้

1. ไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ภายหลังการผ่าตัด
2. อาการทางระบบหายใจ หายใจเร็ว, หอบเหนื่อย
3. ความผิดปกติของสีผิวที่คล้ำ เขียว อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในช่วงระยะเวลาพักฟื้น
4. อาการบวม ตามท้อง, ตัว แขนขา
5. มีความผิดปกติของการเต้นหัวใจ เช่น ใจสั่น, อาการเจ็บหน้าอก หรือเป็นลม เป็นต้น

การให้ยาปฏิชีวนะก่อนการทำฟัน

ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจ จะได้รับคำแนะนำให้กินยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ เช่น ยา
แอมมอคซีซิลิน 1 ช้อนในเด็กเล็ก และ 1 เม็ดในเด็กโต ก่อนการทำหัตถการใดๆ (เช่น การทำฟัน การผ่าตัด เป็นต้น) ประมาณครึ่งชั่วโมง เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อภายในหัวใจ โดยจะต้องกินยา เพื่อป้องกันโดยส่วนใหญ่ไปตลอดชีวิต ซึ่งแพทย์จะให้คำแนะนำเป็นรายไป

สรุป

การผ่าตัดหัวใจเพื่อรักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ทั้งการเตรียมการ และดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด ขั้นตอนเหล่านี้ได้เตรียมไว้เพื่อให้ผลการรักษาและความปลอดภัยที่ดีที่สุด ของผู้ป่วย อย่างไรก็ดีผู้ป่วยหลังผ่าตัด ยังต้องการการดูแลที่ใกล้ชิด จากญาติและการดูแลพิเศษจาก
ผู้ปกครอง พร้อมทั้งมีข้อปฏิบัติและข้อระวังต่างๆ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด