worakan.jpgผศ.นพ.วรการ พรหมพันธุ์


ในอดีต รูรั่วของผนังหัวใจไม่ว่าจะเป็นที่ผนังหัวใจด้านบน (Atrial septal defect, ASD) ผนังหัวใจด้านล่าง (Ventricular septal defect, VSD) หรือเส้นเลือดเกินนอกหัวใจ (Patent ductus arteriosus, PDA) จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด

ปัจจุบัน โรคดังกล่าวหายได้โดยไม่ต้องใช้มีดผ่าตัด

     การรักษาผนังกั้นหัวใจรั่วโดยไม่ผ่าตัด แพทย์จะใช้สายสวนหัวใจผ่านทางเส้นเลือดที่ขาหนีบ เพื่อใส่อุปกรณ์พิเศษที่เหมาะสมกับรูรั่วในตำแหน่งต่างๆ เข้าไปปิด โดยทั่วไปการรักษาด้วยวิธีนี้มีประสิทธิภาพการรักษาใกล้เคียงกับการผ่าตัด แต่ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลสั้นกว่า ไม่มีแผลผ่าตัด และมีระยะเวลาพักฟื้นสั้นกว่า
อย่างไรก็ตาม รูรั่วหัวใจไม่สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้ทั้งหมด แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาก่อนการรักษาว่าผู้ป่วยสามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้หรือไม่

 ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยวิธีนี้ พบได้น้อยและขึ้นกับตำแหน่งที่ใส่ โดยทั่วไปแล้ว ได้แก่ อุปกรณ์หลุด (device embolization) หากเกิดปัญหานี้ขึ้น แพทย์จะใช้เครื่องมือพิเศษเพื่อดึงกลับ, เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ, หรือเกิดน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นต้น
อุปกรณ์พิเศษเหล่านี้ทำจากโลหะผสมที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาแล้ว อุปกรณ์นี้จะติดตัวผู้ป่วยไปตลอดชีวิตโดยร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อมาปกคลุมภายใน 3-6 เดือนหลังจากการรักษา ผู้ป่วยมักจะได้รับยา aspirin เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดหลังการรักษาต่อไปอีกประมาณ 1-6 เดือน (ขึ้นกับตำแหน่งที่ใส่) 

ในประเทศไทย โรงพยาบาลหลายแห่งทั้งในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้