โรคหัวใจรูมาติก
ศ.นพ. จุล ทิสยากร

โรคหัวใจรูมาติกคืออะไร

โรคหัวใจรูมาติกเป็นโรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลังคลอด ไม่ใช่ความผิดปกติของหัวใจซึ่งเป็นตั้งแต่กําเนิด โรคหัวใจชนิดนี้เป็นโรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลังคลอดซึ่งพบบ่อยที่สุดในเด็ก

จากการสํารวจพบว่าเด็กในวัยเรียนพบโรคนี้ 0.35-1.4 คน ต่อ 1000 คน และ 3 คน ต่อ 1000 คน ในอายุมากกว่า 15 ปี โรคนี้คิดเป็นร้อยละ 35-40 ของผู้ป่วยโรคหัวใจผู้ใหญ่ซึ่งรับไว้รักษาในโรงพยาบาล

ในปี พ.ศ.2530-2531 จํานวนผู้ป่วยที่ลงทะเบียนว่าเคยเป็นโรคไข้รูมาติกที่โรงพยาบาลราชวิถี เด็ก ศิริราช รามาธิบดี และจุฬาลงกรณ์ มีทั้งหมด 1,010 คน

สาเหตุเกิดจากพยาธิสภาพที่หลงเหลืออยู่ภายหลังการเป็นโรคไข้รูมาติกชนิดที่มีการอักเสบของหัวใจโดยเฉพาะที่ลิ้นหัวใจร่วมด้วย เนื่องจากโรคไข้รูมาติกเป็นโรคซึ่งพบได้บ่อยในประชากรที่ยากจนซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศที่กําลังพัฒนา โรคหัวใจรูมาติกจึงยังคงเป็นปัญหาใหญ่ทางสาธารณสุขสําหรับประเทศเหล่านี้ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ก็เพราะสภาพด้อยทางเศรษฐกิจและสังคม จากความยากจนทําให้ประชากรส่วนหนึ่งพยายาม หนีความยากจนในต่างจังหวัดเดินทางเข้าสู่เมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร เพื่อหางานทํา ซึ่งลงท้ายก็มักจะทํางานตามโรงงานซึ่งจะอยู่กันอย่างแออัด และไม่ถูกต้องตามสุขลักษณะ

เมื่อไรก็ตามถ้ามีคนใดคนหนึ่งเป็นโรคต่อมทอนซิลหรือคออักเสบจากเชื้อโรคเบต้าเสตรปโตคอคคัสกลุ่ม เอ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดก็มีโอกาสติดโรคทําให้ทอนซิลหรือคออักเสบจากเชื้อโรคตัวเดียวกันนี้ได้ และในคนที่คออักเสบจากเชื้อโรคตัวนี้ ประมาณร้อยละ 0.3 ถึง 3 จะมีโอกาสเป็นโรคค่อนข้างร้ายแรงซึ่งเรียกว่า
"โรคไข้รูมาติก"

โรคไข้รูมาติกเป็นโรคที่เกิดขึ้นตามหลังภาวะต่อมทอนซิลหรือคออักเสบจากเชื้อโรคตัวพิเศษที่ชื่อ เบต้าเสตรปโตคอคคัสกลุ่ม เอ ความผิดปกติทางพันธุกรรมทําให้ร่างกายของผู้ป่วยมีปฏิกริยาตอบสนองต่อการติดเชื้อจากเชื้อโรคตัวนี้ผิดไปจากคนธรรมดา ทําให้เกิดพยาธิสภาพจากการอักเสบที่อวัยวะต่างๆจนทําให้เกิดอาการ เช่น

ที่ผิวหนังจะมีผื่นแดงรูปร่างคล้ายแผนที่ ที่ชั้นใต้ผิวหนังจะเกิดเป็นตุ่มแข็งโดยมากมีขนาดเท่าๆกับเม็ดถั่วเขียวหรืออาจใหญ่กว่าเม็ดถั่วลิสงซึ่งพบได้บริเวณท้ายทอย ตามแนวกระดูกสันหลัง หลังศอก หลังมือ หน้าเข่า และหลังเท้า

ตามข้อใหญ่ๆจะมีการอักเสบทําให้ข้อบวมและปวด พบได้ที่ข้อไหล่ ข้อศอก ข้อมือ ข้อสะโพก ข้อเข่า และข้อเท้า

อาการทางสมองที่อาจจะพบได้แก่ การที่เจ้าตัวควบคุมกล้ามเนื้อของตัวเองให้ทํางานตามต้องการไม่ได้ตามปกติ ถ้าเป็นมากจะเขียนหนังสือไม่ได้ ตักอาหารใส่ปากเองไม่ได้ เดินไม่ได้ และอาจมีการแปรเปลี่ยนทางอารมณ์ร่วมด้วย

อาการที่สําคัญมากที่สุดของโรคนี้คือ ผู้ป่วยที่มีอาการจากการอักเสบของหัวใจซึ่งถ้าเป็นน้อยๆ อาจจะไม่มีอาการชัดเจน แต่ถ้าเป็นมากจะมีอาการเหนื่อยง่าย หอบ บวมที่เท้าและขาเนื่องจากหัวใจล้มเหลวเพราะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และลิ้นหัวใจรั่วจากการอักเสบ บางคนอาจจะเจ็บหน้าอกเนื่องจากเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

พยาธิสภาพของอวัยวะต่างๆดังกล่าวข้างต้นยกเว้นหัวใจจะหายได้เป็นปกติ หัวใจเป็นอวัยวะเดียวเท่านั้นที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรทําให้ผู้ป่วยกลายเป็นคนที่มีหัวใจพิการหรือโรคหัวใจรูมาติกตลอดชีวิต แต่โอกาสที่จะเป็นเช่นนี้มีไม่มากถ้าผู้ป่วยเป็นโรคนี้เพียงครั้งเดียว และได้รับการฉีดยาหรือรับประทานยาเพื่อป้องกันการเป็นโรคนี้ซ้ำอีกอย่างสม่ำเสมอตามคําแนะนําของแพทย์

จะเห็นได้ว่าแนวทางที่จะป้องกันโรคนี้ทําได้ 2 วิธีคือ

1. รีบให้การรักษาโรคต่อมทอนซิลหรือคออักเสบจากเชื้อโรคเบต้าเสตรปโตคอคคัสโดยเร็ว ด้วยยาปฏิชีวนะซึ่งจะฆ่าเชื้อโรคซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคไข้รูมาติก แต่ผู้ป่วยต้องรับประทานยาให้ครบ 10 วัน จึงจะกําจัดเชื้อโรคตัวนี้ได้หมด

2. ป้องกันคนที่เคยเป็นโรคไข้รูมาติกแล้วไม่ให้เป็นโรคนี้ซ้ำอีก โดยการฉีดยาปฏิชีวนะซึ่งออกฤทธิ์อยู่ได้นาน โดยฉีดหนึ่งเข็มทุก 3-4 สัปดาห์ หรือรับประทานยาปฏิชีวนะทุกๆวัน ส่วนระยะเวลาที่ผู้ป่วยควรจะได้รับยาป้องกันแบบนี้ควรจะนานเท่าไรนั้น ถ้าตามทฤษฎีผู้ป่วยที่เคยมีการอักเสบของหัวใจควรจะได้รับยาป้องกันไปตลอดชีวิต เพราะแม้ว่าโรคนี้จะเป็นมากตอนช่วงอายุ 5-15 ปี ในผู้ใหญ่อายุ 59 ปี ก็ยังเป็นโรคและเสียชีวิตจากโรคนี้ได้

ส่วนผู้ป่วยที่ไม่เคยเป็นโรคไข้รูมาติกชนิดที่มีหัวใจอักเสบร่วมด้วยควรจะได้รับยาป้องกันโรคนี้นานเท่าไรให้แพทย์ผู้รักษาพิจารณาเป็นรายๆไป โดยทั่วไปแนะนําให้ป้องกันถึงผู้ป่วยอายุ 25 ปี แต่ผู้ป่วยที่มีอาการทางสมองอาจต้องพิจารณาให้การป้องกันนานกว่านี้ เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสเป็นหัวใจอักเสบได้มากถ้าเป็นโรคไข้รูมาติกซ้ำอีก ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับยาป้องกันการเป็นโรคนี้ซ้ำอย่างสม่ำเสมอก็มีสิทธิที่จะเป็นโรคนี้ซ้ำได้ และถ้าเป็นโรคซ้ำชนิดที่ทําให้หัวใจอักเสบด้วยหัวใจก็จะพิการเพิ่มขึ้นกลายเป็นโรคหัวใจรูมาติกอย่างถาวร