ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จุล ทิสยากร 

      เด็กหญิงตุ๊กตา อายุ 11 เดือน ได้รับการเข้าอยู่โรงพยาบาลที่ต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง      ด้วยอาการหายใจหอบ มารดาของเด็กหญิงตุ๊กตา ให้ประวัติว่า เด็กหญิงตุ๊กตาเป็นเด็กที่แข็งแรงดี และได้รับวัคซีนต่างๆตามที่แพทย์แนะนำ เด็กสบายดีจนกระทั่ง 1 วัน ก่อนมาโรงพยาบาล เด็กเริ่ม มีอาการหายใจเร็วและแรง  แต่ไม่มีไข้ การตรวจร่างกายของแพทย์พบว่าอุณหภูมิร่างกาย 36.4oซ  อัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจเร็วกว่าปกติและเด็กค่อนข้างซึม แพทย์ได้ให้ออกซิเจน    แก่เด็กร่วมกับการฉีดยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ หลังจากรับไว้ในโรงพยาบาล 1 ชั่วโมงเด็กมีอาการเลวลง อัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่าเดิม หายใจลำบากมากขึ้นและมีเสียงดัง และเริ่มไม่ค่อยรู้สึกตัว แพทย์ผู้ดูแลจึงได้ขอย้ายเด็กเข้าโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ   เมื่อเด็กมาถึงห้องไอซียู ของโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ แพทย์พบว่าอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจเร็วกว่าปกติมาก ชีพจรเต้นเบา มือและเท้าเย็น ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและภาพเอ็กซ์เรย์ร่วมกับอาการและการตรวจร่างกาย ทำให้แพทย์วินิจฉัยว่าเด็กผู้ป่วยเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบซึ่งสนับสนุนโดยการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (echocardiography) แพทย์ได้อธิบายให้บิดามารดาของเด็กผู้ป่วยเข้าใจว่าโรคของผู้ป่วยรุนแรงมาก แม้ว่าแพทย์จะให้การรักษาเต็มที่ เด็กผู้ป่วยก็ยังมีโอกาสสูงที่จะเสียชีวิต  แพทย์ได้ใส่ท่อช่วยหายใจและต่อเข้ากับเครื่องช่วยหายใจพร้อมกับให้ออกซิเจน  แม้ว่าแพทย์จะได้ให้ยาหลายอย่าง เด็กผู้ป่วยก็ยังคงมีอาการเลวลง และเริ่มมีน้ำเป็นฟองสีชมพูในท่อช่วยหายใจ ซึ่งบ่งบอกว่าเด็กผู้ป่วยกำลังมีภาวะปอดบวมน้ำจากหัวใจห้องล่างซ้ายล้มเหลวอย่างมาก   แพทย์ได้พยายามช่วยเด็กผู้ป่วยอย่างเต็มที่แต่หัวใจของเด็กผู้ป่วยก็ค่อยๆเต้นช้าลงๆจนกระทั่งหยุดเต้นไปแม้ว่าแพทย์จะได้ให้ยาอีกหลายตัว    รวมเวลาที่เด็กผู้ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯเพียง 2 ชั่วโมง และรวมเวลาตั้งแต่เด็กเริ่มมีอาการของการเจ็บป่วยจนกระทั่งเสียชีวิตไม่ถึงสองวันเต็ม

      ผลการตรวจศพยืนยันว่าแพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง คือเด็กผู้ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอย่างรุนแรง ซึ่งมีผลทำให้กล้ามเนื้อเสียหายไปเกือบหมดจนหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปรับออกซิเจนที่ปอดและไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ จนเด็กผู้ป่วยเกิดอาการภาวะปอดบวมน้ำและภาวะช็อคจากความล้มเหลวของกล้ามเนื้อหัวใจ


 
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดขึ้นได้จากสาเหตุมากมาย แต่สาเหตุที่มีความสำคัญมากที่สุดในเด็ก คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัสซึ่งก็มีไวรัสมากมายที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ โรคนี้เป็นได้กับเด็กทุกอายุตั้งแต่เด็กแรกคลอดจนถึงเด็กโต

 ความรุนแรงของโรคในเด็กผู้ป่วยแต่ละคนแตกต่างกันมาก คือ บางคนจะมีเพียงอาการเหนื่อยง่ายในขณะที่บางคนหัวใจเต้นผิดจังหวะ เต้นเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป พวกที่อาการรุนแรงมากได้แก่ กลุ่มที่คล้ายกับเด็กผู้ป่วยรายนี้คือ        มีอาการช็อค เด็กผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่แพทย์ผู้ดูแลรักษาเด็กต้องหนักใจมากที่สุด เพราะเด็กผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้มาก และที่น่าตกใจและยอมรับได้ยากคือการดำเนินของโรคนี้ในเด็ก     ผู้ป่วยที่รุนแรงจะเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เช่นเดียวกับเด็กผู้ป่วยรายนี้ คือ ตั้งแต่เด็กเริ่มมีอาการจนกระทั่งเสียชีวิตใช้เวลาไม่ถึงสองวัน  เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่แพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเด็กผู้ป่วยเป็นโรคนี้ แพทย์ต้องรีบอธิบายให้พ่อแม่ของเด็กเข้าใจถึงความจริงข้อนี้     มิฉะนั้นพ่อแม่ของเด็กจะเข้าใจผิดว่าแพทย์ให้การดูแลรักษาไม่ดี  เพราะเมื่อเด็กเข้าอยู่โรงพยาบาลตอนแรกอาการยังไม่มากนัก แต่ทำไมเมื่อแพทย์เริ่มให้การดูแลรักษาแทนที่เด็กจะดีขึ้น เด็กกลับมีอาการเลวลงเรื่อยๆจนเสียชีวิต แพทย์ต้องอธิบายให้พ่อแม่ของเด็กเข้าใจว่าเด็กที่เป็นโรคนี้ชนิดรุนแรง ขณะที่เด็กได้รับการรักษาอยู่นั้น ขบวนการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจก็อาจจะกำลังเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลาจนถึงจุดที่ไม่เหลือกล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ดีมากพอที่หัวใจจะทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปปอดและไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ  ทำให้เกิดภาวะช็อคจนทำให้เสียชีวิต 

 ในผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบชนิดรุนแรงนั้น แม้ว่าในปัจจุบันจะมียาบางชนิดซึ่งอาจจะช่วยได้บ้าง แต่อย่างน้อยผู้ป่วยจะต้องมีเวลามากพอที่จะให้โอกาสให้ตัวยาได้ออกฤทธิ์บ้าง  อย่างไรก็ตามผู้ป่วยซึ่งเป็นชนิดรุนแรงที่แพทย์สามารถช่วยดูแลรักษาในระยะแรกให้รอดชีวิต ผู้ป่วยก็มักจะไม่หายขาดจากโรคหัวใจ เพราะเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมาก    เมื่อผู้ป่วยดีขึ้นกล้ามเนื้อหัวใจก็ไม่สามารถกลับสู่สภาพกล้ามเนื้อหัวใจที่ปกติ และยังคงเป็นกล้ามเนื้อหัวใจที่ผิดปกติและทำหน้าที่ได้น้อยกว่าปกติตลอดไป        เพราะฉะนั้นแม้ผู้ป่วยจะรอดชีวิตจากระยะเฉียบพลันผู้ป่วยก็อาจจะมีอาการหัวใจล้มเหลวตลอดไปและอาจเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว    

 วิธีการรักษาวิธีเดียวในปัจจุบันที่ทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นได้คือ การปลูกถ่ายหัวใจหรือการเปลี่ยนหัวใจให้ใหม่ซึ่งก็มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเช่นเดียวกัน

 โดยสรุป โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัสเป็นโรคที่น่ากลัวมาก    โดยเฉพาะกลุ่มที่อาการรุนแรง เพราะโอกาสเสียชีวิตในระยะแรกของโรคสูงมากโดยเฉพาะกลุ่มเด็กทารกแรกคลอด พวกที่รอดชีวิตจากระยะแรกของโรคยังอาจเสียชีวิตจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจเรื้อรังซึ่งในปัจจุบันนี้ยังไม่มียารักษา นอกจากการรักษาด้วยยาที่ทำให้อาการลดน้อยลง การรักษาวิธีหนึ่งที่ใช้กันในปัจจุบันคือการปลูกถ่ายหรือการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจซึ่งก็มีความเสี่ยงในการเสียชีวิต จึงน่าจะกล่าวได้ว่าโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัสเป็นมัจจุราชที่ไร้ความปรานี