anan_1.gifการตรวจพิเศษเพื่อการวินิจฉัยโรคหัวใจในเด็ก
ผศ.นพ. อนันต์ โฆษิตเศรษฐ




โดยทั่วไปแล้ว การซักประวัติที่ละเอียดและถูกต้อง ร่วมกับการตรวจร่างกาย สามารถบอกได้ว่าเด็กมีโรคหัวใจหรือไม่อย่างไร แต่การที่จะบอกชนิดของโรคหัวใจในเด็กให้แน่นอน บางครั้งจำเป็นที่ต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคหัวใจในเด็กที่ถูกต้อง

การถ่ายภาพรังสีทรวงอก
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ
การตรวจสวนหัวใจ
การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า





การถ่ายภาพรังสีทรวงอก


  การถ่ายภาพรังสีทรวงอก หรือที่เรียกว่าเอกซเรย์ทรวงอก เป็นการตรวจที่จำเป็นต้องทำในเด็กที่สงสัยว่าจะเป็นโรคหัวใจทุกราย สามารถแสดงว่า หัวใจมีขนาดโตกว่าปกติหรือไม่ และหัวใจห้องใดที่มีขนาดโตบ้าง และยังสามารถแสดงถึงลักษณะของเส้นเลือดจากหัวใจไปที่ปอด และเส้นเลือดจากปอดที่ไหลย้อนกลับมาที่หัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่ แต่การที่ภาพรังสีทรวงอกปกติทุกอย่าง ไม่ได้หมายความว่าเด็กคนนั้นจะไม่เป็นโรคหัวใจเสมอไป การตรวจชนิดนี้เสียค่าใช้จ่ายไม่มากและปลอดภัย สามารถทำในโรงพยาบาลได้เกือบทุกแห่ง เด็กจะไม่รู้สึกเจ็บปวดและปริมาณรังสีที่จะได้รับก็มีน้อยมาก ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แพทย์ทั่วไปสามารถส่งตรวจและแปลผลได้อย่างถูกต้องด้วยตัวเอง

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

  เป็นการตรวจจับกระแสไฟฟ้าที่วิ่งอยู่ในหัวใจ และบันทึกออกมาไว้ในกระดาษ โดยเด็กจะต้องนอนนิ่ง ๆ บนเตียงและถูกติดสายนำไฟฟ้าที่แขน ขา และบริเวณหน้าอก ในรายที่จำเป็นและเด็กไม่ร่วมมือ อาจต้องให้ยานอนหลับอ่อน ๆ ก่อนการตรวจ การตรวจชนิดนี้เสียค่าใช้จ่ายไม่มากและปลอดภัย สามารถทำในโรงพยาบาลได้เกือบทุกแห่ง ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ไม่มีอันตรายจากกระแสไฟฟ้าใดใดทั้งสิ้น แพทย์ทั่วไปสามารถส่งตรวจและแปลผลได้อย่างถูกต้องด้วยตัวเอง
จำเป็นต้องทำในเด็กที่สงสัยหรือเป็นโรคหัวใจทุกราย สามารถบอกว่าห้องใดของหัวใจมีขนาดโตกว่าปกติ และยังช่วยบอกภาวะหัวใจที่เต้นผิดจังหวะด้วย แต่การที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติ ไม่ได้หมายความว่าเด็กคนนั้นจะไม่เป็นโรคหัวใจเสมอไป

การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ

  เป็นการตรวจลักษณะภายในของหัวใจ โดยอาศัยหลักของคลื่นเสียงที่ส่งไปจากเครื่องมือที่วางอยู่ภายนอกบริเวณทรวงอก ลิ้นปี่ และคอ เมื่อไปกระทบกับหัวใจจะสะท้อนกลับมาและเครื่องจะแปลงสัญญาณเสียงนั้นให้เป็นสัญญาณภาพปรากฏในจอรับภาพ สามารถเห็นส่วนต่าง ๆ ของหัวใจ รวมทั้งการทำงานต่าง ๆ ของหัวใจได้ เป็นการตรวจที่ปลอดภัย ไม่เจ็บปวด ไม่มีผลจากคลื่นเสียงใดใด แต่เด็กต้องร่วมมือโดยการนอนนิ่ง ๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นในรายที่เด็กไม่ร่วมมือ จำเป็นต้องให้ยานอนหลับอ่อน ๆ ก่อนการตรวจควรงดอาหารและน้ำ
การตรวจชนิดนี้สามารถช่วยในการวินิจแยกโรคได้อย่างแม่นยำและถูกต้อง แต่จะทำเฉพาะในรายที่มีข้อบ่งชี้จำเป็นเท่านั้น เครื่องมือที่ใช้ทำมีราคาแพง และค่าใช้จ่ายในการทำสูง สามารถทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลบางแห่ง และมีแพทย์โรคหัวใจเด็กเป็นคนทำและแปลผล

การตรวจสวนหัวใจ

  ในโรคหัวใจบางชนิด มีความจำเป็นจะต้องตรวจด้วยวิธีนี้ เนื่องจากการตรวจที่ผ่านมายังไม่สามารถให้ข้อมูลรายละเอียดในแง่ของชนิดหรือความรุนแรงของโรคได้ครบถ้วน การตรวจชนิดนี้ต้องทำโดยแพทย์โรคหัวใจเด็กเท่านั้น เครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้มีราคาแพง และมีเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ
การตรวจจำเป็นต้องเตรียมเด็กเหมือนการผ่าตัด คือ งดอาหาร และน้ำก่อนตรวจ ต้องให้ยาให้เด็กหลับ หลังจากเด็กหลับแล้ว จะฉีดยาชาเฉพาะที่ก่อน เสร็จแล้วแพทย์จะแทงเส้นเลือดดำและ/หรือแดง ที่บริเวณขาหนีบ หรือแขนเพื่อใส่สายสวนหัวใจเข้าไปตามหลอดเลือด ซึ่งจะนำไปสู่หัวใจห้องต่างๆ และหลอดเลือดส่วนที่เกี่ยวข้องกันต่อไป จุดประสงค์เพื่อวัดความดันและวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดจากหัวใจตำแหน่งต่าง ๆ ตลอดจนอาจฉีดสีซึ่งเป็นสารทึบรังสีเพื่อดูให้กายวิภาคของหัวใจและหลอดเลือดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การตรวจชนิดนี้ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะ และอาจมีอัตราเสี่ยงซึ่งเกิดระหว่างการทำและหลังทำหรืออาจมีอาการแพ้สีที่ฉีดได้ ซึ่งเป็นอันตรายแก่เด็กได้ ดังนั้นจึงจะทำในรายที่มีข้อบ่งชี้ชัดเจนเพื่อช่วยในการวินิจฉัยและสามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับเด็กต่อไป นอกจากนี้ การตรวจสวนหัวใจยังมีประโยชน์ในโรคหัวใจบางชนิดในแง่ของการรักษาแทนการผ่าตัดได้ เช่น ในโรคหัวใจชนิดลิ้นหัวใจทางด้านขวาตีบ สามารถใช้การตรวจสวนหัวใจร่วมกับการขยายลิ้นหัวใจด้วยบอลลูน ซึ่งได้ผลดี และอัตราเสี่ยงในการทำก็ไม่สูง

หลังทำการตรวจสวนหัวใจเพื่อการวินิจฉัยหรือการรักษา จำเป็นต้องนอนในโรงพยาบาลเป็นเวลา 8 - 24 ชั่วโมง จนกว่าเด็กจะตื่นดี รับประทานอาหารได้ ไม่อาเจียน และไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆเช่น เลือดออกบริเวณที่เจาะ ในเด็กบางรายสามารถทำการตรวจตอนเช้าและกลับบ้านได้ตอนเย็น ๆ
หลังจากกลับบ้านไปแล้ว จำเป็นต้องดูแลแผลให้สะอาด อย่าให้เปียกน้ำ ถ้าแผลสกปรก ต้องเปลี่ยนผ้าปิดแผล โดยทั่วไปรูที่เกิดจากการแทงเส้นเลือดที่ผิวหนัง จะปิดไปได้เองในเวลา 5 – 7 วัน

การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 

  เป็นการตรวจที่อาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ให้วิ่งผ่านหัวใจและสะท้อนกลับมาเป็นสัญญาณภาพซึ่งสามารถทำได้ทั้งภาพ 2 มิติ และภาพ 3 มิติ ทำให้เห็นรายละเอียดภายในหัวใจและหลอดเลือดได้ชัดเจนดี ข้อดีคือ ไม่เจ็บตัว แต่เด็กต้องนอนนิ่ง ๆ เป็นเวลานานพอควร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำให้เด็กหลับสนิทโดยการให้ยาที่ทำให้เด็กหลับ และเครื่องมือที่ใช้มีราคาแพง เพราะฉะนั้น ค่าใช้จ่ายในการทำแต่ละครั้งจะสูง และต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะในการทำและแปลผล

การตรวจด้วยวิธีนี้ ยังมีข้อบ่งชี้ในโรคหัวใจเด็กบางชนิดเท่านั้น และจะทำในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ชัดเจนเท่านั้น