somkiat.jpgผศ. น.พ. สมเกียรติ โสภณธรรมรักษ์
                
คุณหมอครับ  เด็กก็เป็นโรคหัวใจด้วยหรือครับ? ผมไม่เคยได้ยินเลย
 


เป็นคำถามที่มักได้ยินจากผู้ปกครองเมื่อมีบุตรหลานป่วยเป็นโรคหัวใจ  โดยข้อเท็จจริงแล้ว เด็กแรกเกิดทุก ๆ 100 คน จะมี 1 คนที่ป่วยเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด ซึ่งมีชนิด ผนังกั้นระหว่างห้องหัวใจรั่วบน หรือ ล่าง  เส้นเลือดเกิน  หรือ ชนิดที่เขียว ปากม่วงคล้ำ หายใจหอบ  โดยรวมแล้วต้องรักษาโดยการผ่าตัดเกือบหนึ่งในสาม  หากไม่ได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจเด็ก  และรักษาทัน ก็จะเสียชีวิตได้


   ปัจจุบันยังมีการรักษาโรคหัวใจแต่กำเนิดโดยวิธีไม่ต้องผ่าตัด โดยใช้สายสวนหัวใจ และใส่เครื่องมือที่ทำด้วยโลหะพิเศษ เพื่อจะอุดกัน หรือ ถ่างขยายหลอดเลือด หรือ ชนิดที่เป็นบอลลูน ในกรณีลิ้นหัวใจตีบ หรือ หลอดเลือดตีบ  สามารถสอดจากหลอดเลือดบริเวณขาหนีบไปยังบริเวณที่ต้องการ และทำการรักษา ได้ผลดีมาก ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลช่วงสั้น ไม่มีแผลเป็นจากการผ่าตัด ไม่มีผลแทรกซ้อนที่รุนแรง และกลับไปวิ่งเล่นมีชีวิตที่ปกติอย่างรวดเร็ว ดังรูปที่ 2,3,4 และ 5
         
ความโชคร้ายของผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจ นอกเหนือจากการเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดที่ต้องการ การรักษาโดยด่วนแล้ว มีหลายประการ

    1. แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจเด็ก มีจำนวนน้อย และส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพมหานคร  ส่วนที่เหลือจะมีอยู่ตามภูมิภาคละ 2-3 ท่าน ซึ่งรับผิดชอบดูแล เด็กโรคหัวใจภาคละไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย  และซ้ำร้ายยังมีการลาออกของแพทย์เป็นระยะ เนื่องจากงานที่เพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ และรายได้ที่น้อยกว่า เมื่อเทียบกับการทำงานเป็นกุมารแพทย์ทั่วไป ที่โรงพยาบาลเอกชน ที่ทำงานอยู่ในขณะนี้ก็ด้วยความรักในวิชาชีพ และอาจไม่มีที่ไปที่ดีกว่า
    2. มีกุมารแพทย์ที่สนใจเรียนต่อ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจเด็กน้อย เนื่องจากไม่มีแรงจูงใจ งานที่หนัก  เครียด และถูกตามตัวฉุกเฉินบ่อยมาก โดยไม่มีรายได้เพิ่มเติม    
    3. ศัลยแพทย์ผ่าตัดหัวใจเด็กมีน้อย ไม่สามารถหารายได้เพิ่มเติมได้มาก เท่าการผ่าตัดหัวใจในผู้ใหญ่  ซึ่งไปรับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้ ทั้งที่การผ่าตัดหัวใจเด็ก ต้องใช้ความสามารถมากเป็นพิเศษ  และต้องดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดซึ่งซับซ้อนกว่ามาก  ส่วนใหญ่ทำด้วยความรักในวิชาชีพนี้เช่นกัน หากต้องการหารายได้พิเศษเพื่อเลี้ยงครอบครัว ต้องไปผ่าตัดต่อเส้นเลือด หรือ เปลี่ยนลิ้นในหัวใจผู้ใหญ่ที่โรงพยาบาลเอกชน จึงมีแนวโน้มที่ศัลยแพทย์ผ่าตัดหัวใจ จะมาเรียนผ่าตัดหัวใจเด็กน้อยลงไปเรื่อย ๆ
     4. ผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจ  ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และมีอายุน้อย เพิ่งเริ่มต้นสร้างครอบครัว  แม้แต่ค่าเดินทางมาตรวจรักษาก็ไม่มี  ต่างจากผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีอาชีพค่อนข้างมั่นคง หรือมีลูกหลานคอยช่วยเหลือเรื่องค่ารักษาให้

   โรคหัวใจในเด็ก เป็นความเจ็บป่วยที่น่ารักษายิ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับโรคหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงในผู้ใหญ่เนื่องจากมีพยากรณ์โรคที่ดี หากผ่าตัด หรือ ให้การรักษาด้วยสายสวน ส่วนใหญ่จะหายขาด มีผลแทรกซ้อนน้อย สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญของชาติสืบไป  แนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆข้างต้น ในปัจจุบัน ยังคงเน้นที่การตั้งรับ มีคนไข้ก็รักษากันไป ส่งตัวกันไป  ไม่หมดสิ้น และเมื่อหมดแรง หมดกำลังใจ ก็จะหยุดทำ  ทางมูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ  ได้พยายามออกหน่วยให้ความช่วยเหลือตรวจรักษา ณ โรงพยาบาลของรัฐ ตามภาคต่าง ๆ หมุนเวียนกันไป  ซึ่งเป็นประโยชน์ยิ่ง  

    แนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ควรมุ่งเน้นไปที่การรวบรวมทรัพยากรที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย หลาย ๆ แห่ง ตามโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลของรัฐ ตามศูนย์หัวใจต่าง ๆ เช่น ห้องสวนหัวใจ เครื่องตรวจหัวใจ ด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง และบุคลากร  ตลอดจนงบประมาณต่าง ๆ  ให้มารวมเป็นศูนย์โรคหัวใจสำหรับเด็กแห่งชาติ ( National Heart Institute for Children ) ยกตัวอย่างเช่น บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  มีศุนย์หัวใจของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และ โรงพยาบาลรามาธิบดี  โดยต่างคนต่างทำ  การจัดตั้งห้องสวนหัวใจ 1 ห้อง ใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 30-70 ล้านบาท และ การใช้ห้องสวนหัวใจในระบบราชการ ไม่คุ้มค่า ในช่วงเย็นก็จะปิดตาย อาจมีผู้ป่วยฉุกเฉินบ้างแต่น้อย  หากสามารถทำให้รวมกันได้ จัดเวลาการทำงานใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ อย่างคุ้มค่า  ดังที่เคยเห็นใน โรงพยาบาลเอกชนของอเมริกา  มีการจัดระบบการใช้ห้องสวนหัวใจ ตั้งแต่เช้า  6 นาฬิกา จนถึงเที่ยงคืน เกือบทุกวัน 

   ณ ที่ ศูนย์โรคหัวใจสำหรับเด็กแห่งชาตินี้ จะมีการทำงานร่วมกันทั้งกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจ ศัลยแพทย์ผ่าตัดหัวใจเด็ก พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ โดยมีค่าตอบแทนสูงใกล้เคียงกับโรงพยาบาลเอกชน และไม่ต้องไปเปิดคลินิกส่วนตัว หรือไปอยู่เวรที่โรงพยาบาลเอกชน เพื่อหารายได้เสริม  โดยไม่ยึดถือสถาบันอีกต่อไป  มุ่งเน้นการรักษา การดูแล ก่อนและหลังผ่าตัด ตลอดจนการป้องกัน  ดังที่มีการจัดตั้งในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะที่ใกล้ ๆ คือ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมี   National Heart Institute  จัดตั้งมาประมาณ 10 ปี เป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลก และแก้ไขปัญหาผู้ป่วยโรคหัวใจทั้งเด็ก และผู้ใหญ่เป็นที่น่าพอใจ 

   ศัลยแพทย์ผ่าตัดหัวใจเด็ก ควรมีหน้าที่ผ่าตัดผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจที่ซับซ้อนมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดในผู้ป่วยในรายที่รักษาได้โดยการใช้สายสวนหัวใจ จะลดการผ่าตัดที่ไม่จำเป็นได้อย่างมาก เช่น รายที่มีผนังรั่วส่วนบน ผนังรั่ว ส่วนล่าง หรือ มีเส้นเลือดเกิน  ส่วนหน้าที่ของกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจจะรักษาโดยการใช้สายสวน  ซึ่งสามารถให้การดูแลได้อย่างปลอดภัย และผลการรักษาอยู่ในเกณฑ์ดีมาก  คิวการผ่าตัดหัวใจในเด็กจะลดลงอย่างมาก จากเดิมต้องรอเป็น 1-2 ปี  ซึ่งผู้ป่วยเด็กหลายรายเสียชีวิตไประหว่างรอการผ่าตัด   คิวอาจลดลงเหลือเป็น 2-3 เดือน ในปัจจุบัน การรักษาโดยวิธีใช้สายสวน ทำได้เฉพาะในรายที่จ่ายเงิน หรือ เบิกจากราชการได้ ส่วนคนไข้เด็กที่มีบัตรทองนั้นไม่ครอบคลุม  เป็นความแตกต่างในการรักษาอย่างยิ่ง  ค่าผ่าตัดหัวใจเด็กในประเทศไทยนั้น นับได้ว่ามีราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับต่างประเทศ เป็นเพราะไม่ได้รวมค่าผ่าตัดของแพทย์และการดูแลหลังผ่าตัดของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะทีมพยาบาล ที่ทุ่มเท และต้องมีประสบการณ์มากซึ่งไปรวมอยู่ในเงินเดือนของข้าราชการ   หากรวมค่ารักษาที่ซ่อนเร้นในส่วนนี้เข้าไปด้วย ค่ารักษาโดยการผ่าตัด จะใกล้เคียงกับการรักษาโดยใช้สายสวนหัวใจ
    นอกจากนี้ศูนย์โรคหัวใจของรัฐตามภูมิภาคต่าง ๆ ควรได้รับการสนับสนุน และพัฒนาจนเป็นสาขาของศูนย์โรคหัวใจสำหรับเด็กแห่งชาติ โดยเฉพาะการรักษาด้วยสายสวนหัวใจ ซึ่งเป็นการรักษาที่น่าจะให้ผลคุ้มค่า ในระยะยาวแม้มีราคารักษาแพงกว่าในเบื้องต้น  เมื่อเทียบกับการผ่าตัด  การพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการรักษาโรคหัวใจโดยการใช้สายสวน จะเป็นอีกบทบาทหนึ่งของกุมารแพทย์โรคหัวใจ เพื่อการวิจัย และสามารถประดิษฐ์เพื่อการค้าได้ในอนาคต ทำให้วัสดุที่ใช้อุดกันเส้นเลือด หรือ ถ่างขยายเส้นเลือดที่ผลิตจากโลหะพิเศษ มีราคาที่ถูกลงมาก โดยร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอยู่ เช่น สวทช  ศูนย์โลหะแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อวิจัย และพัฒนาต่อไป