ผศ.นพ.วรการ พรหมพันธุ์
                    สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

  การติดเชื้อที่เยื่อบุผนังหัวใจในเด็กที่เป็นโรคหัวใจ (infective endocarditis, IE) เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย แต่เมื่อเป็นโรคนี้ก็จะเป็นสาเหตุที่สำคัญให้ผู้ป่วยเด็กเสียชีวิต ส่วนมากผู้เป็นโรคนี้มักจะ มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดอยู่ก่อนแล้ว (ประมาณ 70%) และ ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย เกิดโรคนี้หลังผ่าตัดรักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โดยเฉพาะหลังการผ่าตัดต่อเส้นเลือดเทียม (palliative shunt) , หลังผ่าตัดแก้ไขโรคหัวใจชนิดซับซ้อน (complex cyanotic congenital heart disease) หรือกลุ่มที่ต้องใส่ลิ้นหัวใจเทียม (prosthetic heart valve) เป็นต้น


 สาเหตุการเกิดโรค

 ในโรคที่มีรูรั่วของผนังกั้นหัวใจ หรือมีลิ้นหัวใจผิดปกติ การไหลเวียนเลือดในบริเวณดังกล่าวจะแรงขึ้นกว่าเดิมมาก (turbulence flow) และเมื่อเลือดที่มีความแรงเพิ่มขึ้นกระทบกับเนื้อเยื่อของหัวใจ ก็จะทำให้เกิดแผลถลอกในผนังหัวใจขึ้น (เปรียบเหมือนฉีดน้ำแรงๆลงบนดิน) หากโชคร้ายมีเชื้อโรคหลุดรอดเข้าไปอยู่ในกระแสเลือด เข้าไปรวมตัวกับเกร็ดเลือดในบริเวณที่เกิดรอยถลอก ก็จะเกิดก้อนเชื้อโรค หรือที่เรียกว่า vegetation ทำให้เกิดการติดเชื้อที่เยื่อบุผนังหัวใจในที่สุด

อาการและอาการแสดงต่างๆ 

 1. มีอาการและอาการแสดงของการติดเชื้อในร่างกาย (evidence of systemic infection) ผู้ป่วยจะมีไข้อยู่เป็นเวลานานหลายวัน บางรายหนาวสั่น,เบื่ออาหาร,น้ำหนักลด,ปวดเมื่อยตามตัว,อ่อนเพลีย ตรวจเลือดมักจะพบภาวะซีด และมีปริมาณเม็ดเลือดขาวสูงผิดปกติ
 2. อาจพบจุดเลือดออกตามปลายมือปลายเท้า หรือบริเวณเยื่อบุตา 
 3. ได้ยินเสียงหัวใจผิดปกติไปจากเดิมที่เคยมี 
 4. อาจพบปัสสาวะมีสีแดงหรือเป็นฟองผิดปกติ มีม้ามโตผิดปกติ
 
การวินิจฉัยและการรักษา

 หากแพทย์สงสัยว่าเด็กอาจป่วยเป็นโรคนี้ จำเป็นต้องรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล เพื่อตรวจเพิ่มเติมและให้การรักษาที่เหมาะสม โดยแพทย์จะเพาะหาเชื้อโรคในเลือด ตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (echocardiography) และเมื่อสามารถให้การวินิจฉัยได้แน่ชัดแล้ว แพทย์จะไห้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด ติดต่อกันเป็นเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ โดยในระหว่างนี้หากผู้ป่วยมีอาการหัวใจล้มเหลว (heart failure) แพทย์ก็จะปรับยาหัวใจเพื่อควบคุมอาการดังกล่าวไปด้วย
 โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยที่เกิดภาวะนี้ มักมีอาการดีขึ้นหลังการรักษา อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยบางรายที่อาจเสียชีวิตหรือทำให้โรคหัวใจที่เป็นอยู่แย่ลงกว่าเดิม เนื่องจากเกิดการติดเชื้อรุนแรงขึ้นในเยื่อบุหัวใจ เชื้อโรคกัดกินลิ้นหัวใจจนฉีกขาดเสียหน้าที่ไป เกิดฝีหนองในกล้ามเนื้อหัวใจ หรือเชื้อโรคอาจทำลายระบบการเต้นของหัวใจ ทำให้หัวใจไม่สามารถเต้นได้ตามปกติ 
ผู้ป่วยที่มีอาการแย่ลงหลังการรักษา แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมลิ้นหัวใจที่เสียการทำงาน หรืออาจต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ให้สามารถกลับมาเต้นได้เป็นจังหวะอีกครั้ง
 
การป้องกันโรค

  เป็นเรื่องสำคัญของผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจ ที่จำเป็นต้องป้องกันการเกิดภาวะนี้ เด็กควรหมั่นรักษาสุขภาพปากและฟันให้แข็งแรง (เนื่องจากฟันผุ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เชื้อโรคเล็ดรอดเข้าไปในกระแสเลือดได้) หากจำเป็นต้องถอนฟัน หรืออุดฟัน ต้องแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบทุกครั้งว่าเป็นโรคหัวใจ และควรระบุชนิดของโรคด้วยว่าเป็นชนิดใด (เนื่องจากโรคหัวใจบางโรค ไม่มีความจำเป็นต้องได้รับการป้องกัน) เพื่อทันตแพทย์จะได้พิจารณาให้ยาปฎิชีวนะป้องกันการติดเชื้อในเยื่อหุ้มหัวใจ
  นอกจากการทำฟันแล้ว การทำหัตถการอีกหลายๆอย่าง ก็มีความจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อในเยื่อหุ้มหัวใจด้วย เช่น การผ่าตัดในช่องท้อง หรือในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น ผู้ป่วยจึงควรแจ้งแพทย์ให้ทราบทุกครั้งก่อนที่จะทำหัตถการต่างๆว่าเป็นโรคหัวใจ