การประกันชีวิตในผู้ป่่วยโรคหัวใจ
อ.นพ.สุนทร ม่วงมิ่งสุข 


การประกันชีวิต


การประกันชีวิต เป็นการแบ่งปันผลประโยชน์ ในกลุ่มคนที่มีอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตที่เท่าๆ กัน ผู้เอาประกันที่โชคดี ยังมีชีวิตอย ู่ก็จะช่วยจ่ายเงินให้ผู้ที่โชคไม่ดี ที่เสียชีวิตไปก่อนเวลาอันควร สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ อัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรคที่เป็น บางโรคเมื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสมแล้ว ก็จะมีอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตเท่ากับคนปกติทั่วไป บางโรคถึงแม้ว่าจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมแล้ว ก็ยังมีอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตมากกว่าคนปกติ ดังนั้นบริษัทประกันชีวิตก็อาจจะพิจารณา เพิ่มเบี้ยประกัน หรือ อาจไม่รับทำประกันชีวิตให้เลยก็ได้ บริษัทประกันจะรับทำประกันชีวิตส่วนใหญ่จะแบ่งอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตดังนี้

มาตรฐาน (standard) อัตราการการเสียชีวิตของคนปกติทั่วไป
อัตราเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย (minimal substandard) มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มมากกว่าคนทั่วไป แต่น้อยกว่า 1เท่า
อัตราเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นปานกลาง (moderate substandard) มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่ม มากกว่าคนทั่วไป ระหว่าง 1-2 เท่า
อัตราเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก (heavy substandard) มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มมากกว่า คนทั่วไป ระหว่าง 2-5 เท่า

ยกตัวอย่างการทำประกันชีวิตในผู้ป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจพัลโมนิคตีบ (pulmonary valve stenosis) แม้ว่าชนิดของโรคจะมีความสำคัญ ตัวสำคัญกว่าในการพิจารณาคือความรุนแรงของโรค

ลิ้นหัวใจพัลโมนิคตีบน้อยมาก

ลิ้นหัวใจพุลโมนิคตีบน้อยมาก (trivial pulmonary valve stenosis) มีค่าความดันโลหิตในห้องหัวใจที่แตกต่างกันจากลิ้นหัวใจตีบน้อยกว่า 15 มิลลิเมตรปรอท ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการใด ๆ ตรวจร่างกายจะได้ยินเสียงฟู่ของลิ้นที่ตีบไม่ดังมากนัก มีภาพรังสีของหัวใจและคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นปกติ ก็จะสามารถทำการประกันชีวิตได้ในอัตราเท่ากับคนปกติ

ลิ้นหัวใจพัลโมนิคตีบน้อย

ลิ้นหัวใจพุลโมนิคตีบน้อย (mild pulmonary valve stenosis) มีค่าความดันโลหิตในห้องหัวใจที่แตกต่างกันจากลิ้นหัวใจตีบ 15-45 มิลลิเมตรปรอท โดยที่ผู้ป่วยไม่มีประวัติตัวเขียว จะสามารถทำประกันชีวิตได้อัตราเท่ากับคนปกติหรือเสี่ยงมากขึ้นเล็กน้อย (standard to minimal substandard)

ลิ้นหัวใจพัลโมนิคตีบปานกลาง

ลิ้นหัวใจพุลโมนิคตีบปานกลาง (moderate pulmonary valve stenosis) มีค่าความดันโลหิตในห้องหัวใจที่แตกต่างกันจากลิ้นหัวใจตีบ 46-79 มิลลิเมตรปรอท โดยที่ผู้ป่วยไม่มีประวัติตัวเขียว จะสามารถทำประกันชีวิตได้อัตราเสี่ยงเพิ่มขึ้นปานกลางหรือเสี่ยงมากขึ้นอย่างมาก (moderate substandard to heavy substandard)

ลิ้นหัวใจพัลโมนิคตีบมาก

ลิ้นหัวใจพุลโมนิคตีบมาก (severe pulmonary valve stenosis) มีค่าความดันโลหิตในห้องหัวใจที่แตกต่างกันจากลิ้นหัวใจตีบ 80 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ไม่สามารถทำประกันชีวิตได้

ผู้ป่วยลิ้นหัวใจพุลโมนิคตีบแต่ได้รับการผ่าตัดมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี

1. ผ่าตัดได้ผลดีมาก ผู้ป่วยไม่มีอาการใด ๆ มีภาพรังสีของหัวใจปกติหรืออาจมีหลอดเลือดใหญที่ไปเลี้ยงปอดโตเพียงเล็กน้อย คลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นปกติหรือพบว่ามีหัวใจด้านขวาหนาตัวเพียงเล็กน้อย ถ้าสวนหัวใจก็พบว่ามีค่าความดันโลหิตในห้องหัวใจที่แตกต่างกันจากลิ้นหัวใจตีบ น้อยกว่า 25 มิลลิเมตรปรอท สามารถทำการประกันชีวิตได้ในอัตราเท่ากับคนปกติ
2. ผ่าตัดได้ผลดีพอควร เมื่อผู้ป่วยยังมีลิ้นหัวใจตีบอยู่บ้างหลังการผ่าตัด ใช้เกณฑ์การวินิจฉัยแบบเดียวกันกับก่อนการผ่าตัด การมีลิ้นหัวใจพุลโมนิครั่วเพียงเล็กน้อยไม่มีผลต่อการพิจารณา

บริษัทประกันชีวิตส่วนใหญ่จะมีการพิจารณาผู้เอาประกันเป็นราย ๆ ไปแล้วแต่โรคที่เป็น ความรุนแรงของโรค ได้รับการรักษาอย่างไรมาแล้วบ้าง ขณะนี้ผู้ป่วยเป็นอย่างไร จะต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติมหรือไม่ และจะมีชีวิตอย่างไรต่อไปในอนาคต แต่ละบริษัทอาจจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในรายละเอียด ผู้ที่อยากทำประกันชีวิตควรขอรายละเอียดจากหลายบริษัทในเวลาเดียวกันเพื่อการเปรียบเทียบ