การคุมกำเนิดในผู้ป่่วยโรคหัวใจ
อ.นพ.สุนทร

เนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคหัวใจได้รับการรักษาที่ดีและมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น จากทารกไปเป็นเด็กโต จากเด็กโตเป็นวัยรุ่น และจากวัยรุ่นเป็นผู้ใหญ่ เข้าสู่วัยทำงาน และหวังที่จะมีชีวิตที่ดีเหมือนคนปกติทั่วไป อยากเรียนหนังสือ อยากเล่นกีฬา อยากมีเพื่อน อยากมีครอบครัว อยากมีบุตรที่น่ารัก และอยากมีความมั่นคงในชีวิตทั้งของตนเองและครอบครัว แต่ด้วยความที่ตนเองมีโรคหัวใจเป็นโรคประจำตัวตั้งแต่เกิด ก็จะทำให้การดำเนินชีวิตอาจจะแตกต่างจากคนรอบข้างได้บ้าง

การคุมกำเนิด

แพทย์ควรจะเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์อย่างดีกับผู้ป่วย ก่อนที่จะคุยกันในเรื่องเพศ ในจุดเริ่มต้น ควรจะประเมินดูว่า ผู้ป่วยที่เริ่มเข้าวัยหนุ่มสาว หรือเข้าวัยผู้ใหญ่ มีความสัมพันธ์อย่างไรกับบิดามารดา เนื่องจากบิดามารดามักจะปกป้องผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคหัวใจอย่างมาก จนอาจเข้มงวดมากเกินไป จนเด็กอาจจะมีปัญหาทางอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการผ่าตัดแก้ไข หรือผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดตอนโต มักจะมีร่างกายบอบบางกว่าคนปกติ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจจะมีแผลเป็นจากการผ่าตัด ที่กลางหน้าอกหรือด้านข้าง ทำให้รู้สึกอับอายและเป็นปมด้อย ผู้ป่วยเหล่านี้บางคนอาจจะใช้เรื่องทางเพศ เป็นข้อที่ทำให้ตนได้รับการยอมรับจากเพื่อนหรือผู้ใกล้ชิด

วัยรุ่นมักจะไม่ชอบให้ใครมาดูถูกในเรื่องความไม่รู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเพศ บิดามารดาและแพทย์เป็นบุคคลสำคัญที่จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาและคำแนะนำในเรื่องเหล่านี้ เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้วัยรุ่นได้รับคำแนะนำที่ไม่ถูกต้องและอาจถูกยั่วยุให้ลองทำในสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ควรทำ

ข้อแนะนำในการคุมกำเนิด การคุมกำเนิดที่ดีที่สุดก็คือการไม่มีเพศสัมพันธ์โดยเด็ดขาด แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ในผู้ป่วยทุกราย ดังนั้นจึงควรให้ความรู้ในเรื่องเพศศึกษาและการคุมกำเนิดแก่ผู้ป่วย วิธีการคุมกำเนิดที่ควรใช้ มีดังต่อไปนี้

ยาคุมกำเนิด

เป็นวิธีที่ได้ผลดี แต่ต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ การใช้ยาคุมกำเนิดอาจทำให้เลือดจับตัวเป็นก้อนได้ง่ายขึ้น ก้อนเลือดอาจอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงร่างกายได้ (thromboembolic events) จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจชนิดเขียว (มีเลือดดำจากหัวใจห้องขวาไหลเขามาผสมกับเลือดแดงในหัวใจห้องซ้าย) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่มีเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ (polycythemia) หรือ ผู้ป่วยที่เคยมีก้อนเลือดไปอุดตามหลอดเลือดของร่างกายมาแล้ว

ยาคุมกำเนิดแบบฝัง

ยาคุมกำเนิดแบบฝัง (implantable contraceptive) จะฝังไว้ที่แขน มีประสิทธิภาพดีและอยู่ได้นาน ข้อเสียพบได้ในผู้ป่วยบางราย อาจมีเลือดออกกระปริดกระปรอย แต่ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นได้เอง ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีประวัต ิเคยมีก้อนเลือดไปอุดตามหลอดเลือดของร่างกายมาแล้ว มีประจำเดือนผิดปกติอยู่เดิม เป็นโรคตับหรือมะเร็งเต้านม

ถุงยางอนามัย

ถุงยางอนามัย (condom) เป็นที่นิยมมากขึ้น ช่วยการคุมกำเนิดได้อย่างดี และยังใช้ร่วมกับการคุมกำเนิดชนิดอื่น ๆ เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์เกือบทุกชนิดด้วย

การนับวัน

การนับวันเพื่อมีเพศสัมพันธ์ในระยะเวลาที่ไม่มีไข่ตก เป็นการคุมกำเนิดที่มีโอกาสพลาดได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ

Diaphragms

Diaphragms เป็นแผ่นครอบใช้เป็นเครื่องป้องกันชนิดหนึ่ง ที่ต้องใส่เข้าไปในช่องคลอด ก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ตั้งครรภ์ หรือเยลลี่คุมกำเนิด (contraceptive jellies) ซึ่งจะไม่ค่อยสะดวกในการใช้ เพราะต้องใช้เวลาในการใส่ และยังจะต้องใช้ให้ถูกวิธีด้วย

การใส่ห่วง

การใส่ห่วง(intrauterine device, IUD)ไม่ใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ เพราะอาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ (infective endocarditis) สำหรับการทำหมัน ไม่แนะนำให้ทำในผู้ที่อายุน้อยกว่า 21 ปี เนื่องจากอาจมีปัญหาทางสังคม หรือทางกฎหมายในอนาคต