50051.jpgสภาพจิตใจของเด็กที่เจ็บป่วยและการอยู่โรงพยาบาล
(Psychological Aspects of Illness
and Hospitalization)

พญ.เพียงทิพย์ พรหมพันธุ์
กุมารแพทย์, จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น


 
  เด็กที่มีการเจ็บป่วยทางร่างกายจำนวนหนึ่งจะป่วยจนต้องมาโรงพยาบาลหรือต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและจากที่ทราบกันดีว่าร่างกายมีความสัมพันธ์กับจิตใจ เมื่อเกิดการเจ็บป่วยทางร่างกายก็จะมีผลกระทบกับจิตใจ ซึ่งอาจจะทำให้ลุกลามไปกระทบต่อสถาบันครอบครัวได้

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัวของเด็กเมื่อเจ็บป่วย

1.ปัจจัยเกี่ยวกับเด็ก

   1.1 ระดับอายุและพัฒนาการด้านความคิด เด็กในแต่ละวัยมีความเข้าใจและการรับรู้แตกต่างกัน

      1.1.1 เด็กแรกเกิด-6 เดือน เด็กยังไม่สามารถแยกตนเองจากแม่ได้ ดังนั้นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเนื่องจากได้
              รับการเลี้ยงดูที่เปลี่ยนแปลงไป
      1.1.2 เด็กอายุ 7 เดือน-2 ปี เด็กเริ่มจำแม่ได้ แยกแยะคนแปลกหน้าได้ จึงเริ่มวิตกกังวลเมื่อเจอคนแปลก
              หน้า
      1.1.3 เด็กอายุ 3 – 6 ปี เด็กมีความคิดว่าการเจ็บป่วยมีสาเหตุจากตนเอง เด็กอาจเชื่อว่าการเจ็บป่วยเป็น
              การลงโทษที่เขากระทำผิด เช่น ซน , ดื้อ ไม่เชื่อฟัง ฯลฯ เขาสามารถหายได้โดยการทำตามกฎ
              ระเบียบ
      1.1.4 เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เริ่มมีความเข้าใจกระบวนการเกิดโรคและการรักษา เด็กวัยนี้กังวลกับรูปร่าง
              ภาพลักษณ์ของตนเอง เริ่มมีความสนใจเพศตรงข้าม ต้องการความเป็นอิสระ และซึมเศร้าง่าย

   1.2 ลักษณะพื้นฐานทางอารมณ์และบุคลิกภาพ ลักษณะนี้ถูกกำหนดโดยพันธุกรรมและภาวะแวดล้อม

   1.3 ระดับสติปัญญา เด็กสติปัญญาต่ำไม่ค่อยเข้าใจสาเหตุของการเจ็บป่วย

   1.4 ประสบการณ์ของการเจ็บป่วยในอดีต

2. ปัจจัยเกี่ยวกับโรค

   2.1 ช่วงอายุที่เริ่มต้นเกิดโรคครั้งแรก  เช่น เด็กเกิดมาไม่มีแขนย่อมมีผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก 
   มากกว่าวัยรุ่นที่เกิดอุบัติเหตุเสียแขน
  
2.2 ลักษณะของโรค  ซึ่งมีผลต่อความเข้าใจ การยอมรับ และการปรับตัวของเด็กและครอบครัว เช่นโรคที่
   เกิดจากพันธุกรรม จะทำให้พ่อแม่รู้สึกผิด จนอาจจะไม่อยากมีลูกอีกเลย
   2.3 ความแน่นอนของการวินิจฉัยโรค ในกรณีที่โรคต้องใช้เวลาวินิจฉัยนาน จะทำให้เด็กและครอบครัว วิตก
   กังวลได้มาก
   2.4 ระดับความผิดปกติและความพิการ
   2.5 การพยากรณ์และการดำเนินโรค  ถ้าโรคนั้นยังมีความหวังว่าสามารถรักษาให้หายได้ แพทย์และครอบ  
   ครัวจะมองโรคในแง่ดี ในทางตรงกันข้าม เมื่อเด็กเป็นโรคร้ายแรง ย่อมมีผลต่อการดำเนินชีวิตของเด็กและ
   ครอบครัว

3. ปัจจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม

   3.1 ความสัมพันธ์ในครอบครัว
   3.2 อิทธิพลของความเชื่อต่าง ๆต่อการเจ็บป่วย คำบอกกล่าวจากบุคคลอื่นหรือวัฒนธรรมประเพณี คำ
   ทำนาย มีผลต่อความรู้สึกนึกคิด
   3.3 ทัศนคติและการเลี้ยงดูก่อนและหลังเจ็บป่วย  เมื่อเด็กเจ็บป่วยพ่อแม่จะมีทัศนคติและท่าทีการเลี้ยงดู
   ลูกเปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีผลต่อการปรับตัวของเด็ก
   3.4 การช่วยเหลือสนับสนุนจากญาติพี่น้องและเพื่อน ๆ  จะช่วยบดความวิตกกังวล และช่วยให้เด็กปรับตัว
   ได้ดีขึ้น

ผลกระทบทางจิตใจต่อพ่อแม่ของเด็กป่วย (โดยเฉพาะเด็กที่ป่วยเรื้อรัง)

1. ผลกระทบทางอารมณ์  โรคที่มีความพิการแต่กำเนิด พ่อแม่ของเด็กก็จะรู้สึกว่าตนเองไม่สมบูรณ์ ล้มเหลว รู้สึกผิด ไม่ยอมรับอาการเจ็บป่วยของเด็ก
2. ผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพ่อแม่  พ่อบางคนอาจถอยห่างจากครอบครัวไป มุ่งมานะทำงาน เพื่อลดหรือหลีกเลี่ยงความไม่สบายใจ ปล่อยให้ภาระอยู่กับแม่คนเดียว
3. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจฐานะของครอบครัว
พ่อแม่บางรายต้องออกจากงาน เปลี่ยนงาน ต้องหางานพิเศษเพื่อเพิ่มรายได้สำหรับการรักษาพยาบาล
4. ผลกระทบต่อการเลี้ยงดูผู้ป่วย  บางครั้งพ่อแม่จะวิตกกังวลต่ออาการป่วยของลูก พ่อแม่ก็จะทะนุถนอมจนเด็กทำอะไรไม่เป็น ต้องพึ่งพ่อแม่ทุกอย่าง

ผลกระทบทางจิตใจต่อพี่น้องของเด็กป่วย

   เมื่อมีการเจ็บป่วยในครอบครัว พ่อแม่ต้องดูแลเอาใจใส่เด็กป่วยเป็นพิเศษ ทำให้พี่น้องคนอื่น ๆทอดทิ้งปล่อยปละละเลย ทำให้เกิดอาการอิจฉาริษยา  บางครอบครัวพ่อแม่อาจให้พี่น้องคนอื่น ๆมีส่วนช่วยในการดูแลผู้ป่วย ทำให้มีโอกาสเล่นกับเพื่อน ๆ น้อยลง บางครั้งพี่น้องอาจวิตกกังวลว่าตนเองจะเป็นโรคเดียวกับผู้ป่วยก็ได้ พี่น้องเหล่านี้อาจมีปัญหาทางพฤติกรรม หรือผลการเรียนลดลงตามมา



ผลกระทบทางจิตใจต่อเด็กเมื่อเจ็บป่วย

ลักษณะของผลกระทบขึ้นกับระยะเวลาของการเจ็บป่วย และความรุนแรงของการเจ็บป่วยด้วยดังนี้

1. การเจ็บป่วยเฉียบพลัน

ปฎิกิริยาทางจิตใจของเด็กที่เจ็บป่วยเฉียบพลัน ขึ้นอยู่กับระดับพัฒนาการของเด็กและปฎิกิริยาของพ่อแม่ ว่าจะทำให้เด็กปรับตัวได้ดีหรือมีปัญหา

2. การเจ็บป่วยเรื้อรัง

ทำให้เด็กมีข้อจำกัดมากมาย เช่น อาหาร การเคลื่อนไหว การออกกำลังการ และการเรียน(ขาดเรียนบ่อย)

ปฏิกิริยาทางจิตใจของเด็กต่อการเข้าอยู่โรงพยาบาล

มีข้อแตกต่างกันระหว่างการอยู่โรงพยาบาลระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้

1. การเข้าอยู่โรงพยาบาลระยะสั้น

จะแบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้

1.  ระยะต่อต้าน    เมื่อเด็กต้องแยกจากพ่อแม่ เด็กจะแสดงอาการโกรธ ต่อต้านร้องไห้สะอึกสะอื้นรุนแรง เป็นเวลานาน

2.  ระยะสิ้นหวัง    ระยะนี้เด็กจะแสดงอาการซึมเศร้า ปฏิเสธ  ไม่ยอมกินอาหาร

3.  ระยะห่างเหิน  เด็กจะแสดงอาการโกรธ น้อยใจ ไม่สนใจพ่อแม่เมื่อมาเยี่ยมเยียน 

2. การเข้าอยู่โรงพยาบาลระยะยาว

เด็กจะไม่ทราบหมายกำหนดการกลับบ้านที่แน่นอน ทำให้เกิดปัญหาทางอารมณ์ตามมา บางคนมีอาการซึมเศร้า เบื่ออาหาร  ไม่ร่าเริง ไม่เล่นกับเพื่อน ไม่เชื่อฟัง และต่อต้านผู้รักษาได้
 
การป้องกันหรือลดผลเสียจากการเข้าอยู่โรงพยาบาล
 
1.การเตรียมเด็กเพื่อเข้าอยู่โรงพยาบาล   พาเด็กเยี่ยมชมหอผู้ป่วย และให้พยาบาลแนะนำการเตรียมตัวเพื่อเข้าอยู่โรงพยาบาล
2.บรรยากาศในหอผู้ป่วย  ควรคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก กิจวัตรประจำวัน  มีสถานที่สำหรับกิจกรรมพิเศษอะไรบ้าง เช่น มุมอ่านหนังสือ  มุมของเล่น
3.การเยี่ยมเยียนผู้ป่วย  ควรอนุญาติให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง พี่น้อง เพื่อน ๆได้เข้าเยี่ยมผู้ป่วยได้เป็นประจำและนานพอสมควร เพราะจะทำให้เด็กคลายความวิตกกังวลได้มาก
4.การติดต่อสื่อสารระหว่างผู้รักษากับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง  แพทย์ควรอธิบายให้พ่อแม่ฟังด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายถึงการวินิจฉัย ขั้นตอนการตรวจและการรักษา ควรให้โอกาสซักถามข้อสงสัย ควรให้กำลังใจพ่อแม่
5.สถานที่สำหรับพ่อแม่หรือผู้ปกครองพักค้างคืนกับเด็ก  ทางโรงพยาบาลควรจัดเตรียมสถานที่สำหรับพ่อแม่หรือผู้ปกครองพักค้างคืนกับเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี หรือเด็กป่วยหนัก
6.ความสามารถในการสังเกตพฤติกรรมเด็ก  ได้แก่
        อาการทางจิตสรีระ – อ่อนเพลีย กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เจ็บปวดอย่างมาก
       พฤติกรรมแบบถดถอย – ดูดนิ้ว พูดไม่ชัด เลียนแบบเด็กเล็ก ปัสสาวะอุจจาระรดกางเกง ออดอ้อน คลุ้มคลั่ง การหลงผิด ฯลฯ
7.การเตรียมตัวสำหรับหัตถการต่าง ๆ  เด็กควรได้รับการเตรียมพร้อมทางด้านจิตใจก่อนทำหัตถการต่าง ๆ โดยการพูดคุยบอกกล่าวเกี่ยวกับหัตถการที่จะทำตามสมควร ควรพูดคุยด้วยคำพูดที่เข้าใจง่าย
8.การศึกษาพิเศษ  ในกรณีที่เด็กต้องอยู่โรงพยาบาลนาน ๆ การจัดการศึกษาพิเศษช่วยให้เด็กใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
9.การทำงานร่วมกันเป็นทีมระหว่างกุมารแพทย์กับจิตแพทย์  จะช่วยป้องกันการมองปัญหาแต่เพียงแง่มุมเดียว ช่วยทำให้แพทย์สามารถมองถึงความสำคัญของปัญหาทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจควบคู่กันไป
10.การให้ความรู้เรื่องโรค การให้คำปรึกษาแก่พ่อแม่  จะช่วยให้พ่อแม่มีส่วนร่วมในการรักษาผู้ป่วย และพ่อแม่สามารถพูดคุยกับลูกเรื่องโรคภัยไข้เจ็บได้ดีขึ้น
11.การจัดเจ้าหน้าที่ดูแลเด็ก ควรเป็นคนเดิมตลอดเพื่อให้เด็กคุ้นเคยและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กได้